ดูเหมือนว่าจะเป็นปัญหาสืบเนื่องมาจนทำให้เราต้องย้อนอดีตกลับไปที่จุดเริ่มต้นกันบ่อยครั้งเหลือเกินกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จัดขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม 2562 ผ่านมาเป็นครึ่งปีแล้วก็ยังทำให้เราได้เห็นผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเรื่อยๆ
โดยล่าสุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดผลวิจัยการเลือกตั้งที่เก็บสำรวจจากผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ปฏิบัติการสำนักงาน กกต. จังหวัด รวมถึงผู้นำพรรคการเมืองใหญ่ ได้ผลสรุปเป็น 5 ข้อ ดังนี้
1. แม้กรธ.จะอธิบายว่าการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมจะเป็นวิธีเลือกตั้งที่ง่าย แต่กลับพบปัญหามากมาย คือ
-
มีวิธีการคำนวน ส.ส. ที่ยุ่งยาก: เพราะการมีบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ ทำให้การคำนวน ส.ส. มีได้หลายวิธี แถม กกต. ยังไม่แถลงวิธีคำนวนที่ถูกต้องชัดเจน รวมถึงการใช้คะแนนแบ่งเขตเลือกตั้งยังส่งผลกระทบถึง ส.ส. บัญชีรายชื่อที่จะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดถ้ามีการเลือกตั้งซ่อมหรือเลือกตั้งใหม่
-
ประชาชนตัดสินใจเลือกผู้สมัครที่ใช่กับพรรคที่ชอบไม่ได้: เพราะการมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว ทำให้ประชาชนจำเป็นต้องเลือกว่าจะเลือกส.ส.ในเขตพื้นที่ของตัวเองเป็นคนที่ชอบ แต่อาจจะอยู่พรรคที่ไม่ใช่ หรือเลือกพรรคที่ใช่ แต่ ส.ส. อาจไม่ได้เป็นคนที่ชอบ
-
ระบบ “ส.ส.พึงมี” หรือการนำคะแนนเลือกตั้งแบ่งเขตมาเฉลี่ยให้เป็นคะแนนของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งภายในพรรค: เพราะหากผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตไม่ชนะเลือกตั้งในเขตของตน ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนหาเสียงมา แต่คะแนนกลับไปถมให้ส.ส.บัญชีรายชื่อได้เข้าสภาแทน
-
ระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขตมีผู้สมัคร ส.ส. มากเกินไป: การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ลงสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเฉลี่ยแล้วมากถึง 24 คนต่อเขต ขณะที่ในอดีตมีเพียง 6 คนต่อเขต ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน มีบัตรเสียเพิ่ม และมีการใช้งบประมาณจัดการเลือกตั้งมากขึ้น
-
การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตทั้ง 350 เขตทำให้ผู้สมัครพรรคเดียวกันมีหมายเลขต่างกัน: ทำให้เกิดความสับสนต่อประชาชน โดยเฉพาะในการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ไม่มีชื่อผู้สมัครระบุในบัตร
-
มีพรรคการเมืองมากขึ้น และมีพรรคเล็กมากขึ้น: โดยพรรคเล็กหลายพรรคได้มีการส่งส.ส.แบบแบ่งเขตลงสมัครเลือกตั้งเกือบทุกเขตเพื่อให้คะแนนเหล่านั้นมาถมให้ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับแรกได้เข้าสภา ทำให้มีพรรคเล็กจำนวนมากถึง 13 พรรคที่มีส.ส.บัญชีรายชื่อเพียงคนเกียวอยู่ในสภา ส่งผลถึงเสถียรภาพทางการเมืองและฝ่ายรัฐบาล
-
ปัญหาซื้อเสียงกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง: เนื่องจากคะแนนหนึ่งคะแนนก็มีความหมาย เพราะประชาชนไม่ได้เลือกตั้งหลายใบอีกต่อไปแล้ว
2. การเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค. 62 มีปัญหามากกว่าทุกครั้ง
-
บัตรเลือกตั้งตัวอักษรเล็กลง เพราะ ส.ส. เยอะ เสี่ยงบัตรเสียง่าย
-
การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ตามคำสั่งคสช.ที่ไม่ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นก่อน ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่เป็นธรรม
-
การขยายเวลาปิดหีบเลือกตั้งเป็น 17.00 น. ด้วยหวังอยากให้ประชาชนออกมาเลือกตั้งมากขึ้น ทำให้การนับคะแนนหลังปิดหีบลำบากขึ้น และประชาชนไม่ได้มาเลือกตั้งมากกว่าเดิมแต่อย่างใด
-
การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าทำให้เกิดปัญหา ทั้งในด้านของงบประมาณและกำลังคน
-
การรายงานผลการเลือกตั้งมีความคาดเคลื่อนมาก ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของ กกต.
3. เกิดปัญหาเรื่องผู้จัดการเลือกตั้งและตรวจสอบการเลือกตั้ง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงาน กกต.
-
ยกเลิก กกต. จังหวัด และให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งมาแทน โดยเมื่อยกเลิกกกต.จังหวัดแล้ว กกต.จังหวัดก็มีอำนาจหน้าที่น้อยกว่าผู้ตรวจการ ในขณะที่ผู้ตรวจการทำงานไม่บรรลุผล เพราะไม่เคยมีการให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งทำหน้าที่นี้มาก่อน
-
การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่มีการให้ประชาชนมามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้ง ทำให้กกต. ดูน่าเชื่อถือน้อยลง
-
มีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากพรรคการเมืองน้อยมาก เพราะค่าตอบแทนไม่ใช่ของผู้สมัครอีกต่อไป
4. ความรับรู้และความเข้าใจของประชาชนต่อการเลือกตั้งมีน้อยลง เนื่องจากบัตรเลือกตั้งเหลือใบเดียว ทำให้ประชาชนไม่แน่ใจเรื่องระบบการเลือกตั้งแบบใหม่
5. ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นและความพึงพอใจในองค์กรที่จัดการการเลือกตั้งสูงถึง 47.27% ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง และเชื่อว่าหลังเลือกตั้งก็น่าจะลดลงอีก
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มธ. จึงได้ให้ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาดังนี้
-
ควรแก้ไขปัญหาที่ระบบโครงสร้างการเลือกตั้ง อาจทำแบบ รธน.ปี 40 หรือ 50 ที่มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ประชาชนเลือกได้ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ หรือใช้ระบบสัดส่วนผสมแบบการเลือกตั้งเยอรมัน คือเอาคะแนนที่ประชาชนเลือกพรรคการเมือง มาคิดจำนวน ส.ส.รวม ไม่ใช่การเอาคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.เขต มาคิดจำนวน ส.ส.รวม
-
ควรแก้ปัญหาเรื่องมีพรรคการเมืองส่งส.ส.เขตลงสมัครมากเกินไป และแก้ไขเรื่องส.ส.พรรคเดียวกันใช้เบอร์ต่างกัน
-
ควรจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าเฉพาะการเลือกตั้งนอกจังหวัดเพียงอย่างเดียว
-
ปรับปรุงบัตรเลือกตั้งให้มีบัตรเสียน้อยลง
-
กลับมาปิดหีบเลือกตั้งเวลาเดิมที่ 15.00-16.00 น.
-
เปลี่ยนผู้ตรวจการเลือกตั้ง กลับมาใช้กกต.จังหวัด
-
ยกเลิกกฎระเบียบยิบย่อยของกกต.
อ่านดูรวมๆ แล้วเหมือนอะไรที่เป็นปัญหาในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นผลจากการที่เปลี่ยนมาทำอะไรแบบใหม่ทั้งนั้น ซึ่งเรื่องนี้ก็คงต้องเข้าตำราที่ว่า การเปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้ดีเสมอไป อะไรที่ใช้แบบเก่าได้แล้วสะดวกกว่า ก็น่าจะยังคงใช้ต่อไปได้นะ
ด้วยรักและบีบมือ กกต.
ทีมงาน Bottom Line
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้รับการวิจัยว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีปัญหาในหลายด้าน ทั้งในด้านระบโครงสร้างการเลือกตั้ง และการจัดการการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของ กกต.