การดูหนังหรือภาพยนตร์ เป็นสิ่งบันเทิงที่ได้รับความนิยมอย่างไม่เคยเสื่อมคลาย ภาพยนตร์ถือได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่แค่ให้ความบันเทิงอย่างเดียว แต่ยังต้องทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการสื่อสาร สะท้อนเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ชมได้ตกตะกอนทางความคิด ดังนั้นแล้วการชมภาพยนตร์จึงไม่ต่างจากการอ่านหนังสือ ที่มีทั้งความสนุกและความรู้ไปด้วยกัน แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องยอมรับว่าการดูภาพยนตร์บางเรื่องเราได้มองข้ามแก่นแท้ที่ผู้กำกับตั้งใจลงไปในหนังเผลอหลงใหลไปกับความสนุกที่ฉุดรั้งเราไว้บนหน้าจออย่างเดียว
ครั้งนี้ bottom line จึงอยากชวนทุกคนมาดูภาพสะท้อนปัญหาสังคมไทยผ่านหนัง 5 เรื่อง ที่จะทำให้เข้าใจและร่วมถกเถียงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านความสนุกของหนัง ซึ่งบางเรื่องนั้นคุณคาดไม่ถึงเลยทีเดียว
ไอ้ฟัก
ไอฟัก หนุ่มบ้านนอก กับ อีสมทรง หญิงไม่สมประกอบเที่ยวไล่เปิดกระโปรงให้ผู้คนในหมู่บ้านดู เป็นภาพจำของเรื่อง ไอ้ฟัก หนังชื่อแปลกที่บางคนบอกว่าเป็นหนังแปลกและน่าเบื่อ เพราะเนื้อเรื่องเล่าถึงแม่เลี้ยงสติไม่สมประกอบ กับลูกชายทำอาชีพภารโรง ที่ทั้งหมู่บ้านเกลียดสองแม่ลูกคู่นี้จับใจเพราะกล่าวหาว่าได้กันเอง และ ตอนจบโดนครูใหญ่โกงเงิน แต่จริง ๆ แล้ว ไอ้ฟัก ล้วนสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงของสังคมไทยที่ไม่สามารถปฎิเสธได้ว่า “ความแตกต่าง” ของคนในสังคมนั้นมีมากมายและหลากหลายรูปแบบ
สังคมไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา หลังจากการก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ ใน ค.ศ. 2000 หรือ พ.ศ. 2542 นั้นถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุอย่างรวดเร็ว ซึ่งสวนทางกับความเสื่อมทาง ด้านจิตใจ อันปรากฏในค่านิยมและพฤติกรรมของคนไทยในเมืองใหญ่ ที่แสดงออกถึงความนิยมด้านวัตถุอย่าง เด่นชัดหลายประการ เช่น นิยมความหรูหราฟุ่มเฟือย รักความสะดวกสบาย การให้ค่านิยมเพียงรูปกายภายนอก มากกว่าจิตใจ อันสามารถพบเห็นได้มากในสังคมเมืองของไทยในปัจจุบัน ซึ่งต่างจากในอดีตที่มีความเอื้อเฟื้อ ถ้อยทีถ้อยอาศัยอยู่ในจิตใจคนไทย
รวมไปถึงสภาพเสื่อมโทรมทางสังคม อันเกิดจากความเสื่อมทางจิตใจที่มีมากขึ้นของมนุษย์ โดยความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถูกสะท้อนออกมาผ่านทาง จากภาพยนตร์เรื่องไอ้ฟัก ได้อย่างชัดเจน
จันดารา
ความอิโรติกและโป๊เปลือย คือจุดขายของเรื่องนี้ เราต้องยอมรับว่าจุดมุ่งหมายแรกของการดูจันดาราคือการดูฉาก จันเอาน้ำแข็งถูหลัง ซึ่งถือว่าเป็นฉากในตำนานที่ถูกพูดถึงหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะยิ่งมีการรีเมคเอากลับมาทำภาพยนตร์ใหม่อีกครั้งในยุคที่โซเชียลบานสะพรั่ง ประโยคที่ว่า “จันเอาน้ำแข็งมาถูหลังฉันสิ” จึงเป็นไวรัลติดลมบนที่ทุกคนพูดถึง แต่ถึงแม้จะมีมา 2 เวอร์ชั่นแล้ว แก่นแท้ของหนังที่ผู้จัดทำใส่ลงไปกลับไม่เคยเสื่อมคลาย ด้วยภาพสะท้อนของ ปัญหาครอบครัวในสังคมไทย
ครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐาน ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมขนาดเล็ก ที่มีบทบาทสำคัญกับคนไทยมา การที่ครอบครัวมีปัญหาย่อมจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาอีกมากมาย อันจะพบในภาพยนตร์เรื่องจันดารา
โอเคเบตง
หนังใส ๆ ที่เล่าถึงความสัมพันธ์ของคนสองคน แต่กลับแฝงไปด้วยภาพสะท้อนประเด็นความเชื่อ สำหรับในประเทศไทย วัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่มีความใกล้เคียง และเกี่ยวพันกันจนยากที่จะแยกออกจากกันได้ นอกจากเรื่องความเชื่อแล้ว โอเคเบตง ยังนำเสนอมุมมองของศาสนาโดยเสนอเปรียบเทียบชีวิตที่แตกต่างกันของคนทางโลกและคนทางธรรม และความแตกต่างของศาสนา รวมถึงปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างแยบคายและสามารถใช้เป็นแง่คิดให้ผู้ชมได้ดีอีกด้วย
สามชุก
หนังวัยรุ่นที่ก้าวผ่านอุปสรรคในการดำเนินชีวิต ดูผิวเผินคงไม่ต่างอะไรจากหนังประเด็นสังคมอื่น ๆ อย่างวันแสบสาแหรกขาด แต่สามชุกกำลังสะท้อนปัญหาเรื่องยาเสพติดที่เจาะลึกลงไปกับเยาวชนในชุมชนขนาดเล็ก
ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชน มาตั้งแต่ในช่วงระยะของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (2525-2529) ก่อนที่จะพัฒนาเป็นแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติระยะยาว ที่เน้นเยาวชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ดังนั้น หากต้องการที่จะพัฒนาให้เด็กและเยาวชนเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ ที่ดีต่อไปในภายภาคหน้า นั่นหมายความว่าทุกภาคส่วนในสังคมล้วนมีความรับผิดชอบในการหล่อหลอม แต่ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาหลักที่คาราคาซัง รวมถึง การดูแลชุมชนให้ปลอดจากยาเสพติด ดังนั้นสามชุกจึงทำหน้าที่ในการสะท้อนภาพยาเสพติด และ ชุมชนได้อย่างดีเยี่ยมที่ไม่มีหนังเรื่องไหนหยิบยกมากล่าวถึง
เชือดก่อนชิม
เรื่องราวความสยองขวัญสำหรับนักชิม ที่ปูพื้นด้วยความน่ากลัวแต่กลับซ่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาไว้เป็นฉากหลัง เพราะหนังได้จัดบางฉากให้ผู้ชมจงใจได้เห็น อย่างเช่นระหว่างที่นักฆ่ากำลังจะสังหารเด็กหลายต่อหลายรายที่จะเป็นเนื้อแสนอร่อยในก๋วยเตี๋ยวชามใหม่ เหตุการณ์กลับทับซ้อนกับกลุ่มเด็กวิ่งหนีตายด้วยอาการสาหัสบางอย่าง ซึ่งดูภาพรวมแล้วอาจจะหมายถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาเกี่ยวกับนักศึกษา หรือ ตอนสุดท้ายเกี่ยวกับการจับกุม
ที่น่าจะเป็นสัญญะเกี่ยวกับระบบยุติธรรมของไทยในการหาตัวคนร้าย เพราะว่าในหนังมีผู้เคราะห์ร้ายหลายรายที่ต้องสังเวยเป็นเนื้อในชามก๋วยเตี๋ยว พอ ๆ กับที่นักศึกษาต้องตายจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทับซ้อนขึ้นมา แต่ตำรวจกลับเฉยเมย เมื่อนำมาผนวกกับสถานการณ์ 16 ตุลาแล้ว อาจจะเดาได้ว่าตำรวจไม่ได้แยแสหรือหาผู้ร้ายและตรวจสอบการตายอย่างจริงจังในช่วงนั้น เพราะขนาดคนได้กลายเป็นเนื้อเปื่อยในชามก๋วยเตี๋ยวตั้งหลายคน นับประสาอะไรกับนักศึกษาที่ถูกปราบปรามจนเสียชีวิตตั้งหลายราย ภาพยนตร์เชือดก่อนชิม จึงเป็นหนังที่สะท้อนปัญหาการเมืองที่เล่าผ่านความลุ้นและสยดหยองที่ไม่ควรพลาด
เรื่อง มยุรา ยะทา
อ้างอิง ภาพยนตร์ไทยยุคหลังหนึ่งร้อยปีกับความเปลี่ยนแปลงในสังคม
ภาพยนตร์จึงถือได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ที่ไม่ใช่แค่ให้ความบันเทิงอย่างเดียว แต่ยังต้องทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการสื่อสาร สะท้อนเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ชมได้ตกตะกอนทางความคิด