วันที่ 31 ตุลาคม นอกจากเป็น วันฮาโลวีน หรือ วันปล่อยผี ตามความเชื่อทางตะวันตกแล้ว ยังเป็น วันออมแห่งชาติ ของไทยอีกด้วย
วันออมแห่งชาติ เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2541 ตามมติของคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการออมที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในทุกยุคทุกสมัย เพราะการออมเป็นการบริหารเงินส่วนสำคัญสำหรับใช้ในอนาคต และวางแผนต่างๆ ในชีวิต
ใครๆ ก็รู้ว่าเงินออมนั้นสำคัญ แต่เมื่อย้อนดูสถิติบัญชีออมทรัพย์ของคนไทย (ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนสิงหาคม 2562) มีมากถึง 89,216,436 บัญชี พบว่ากว่า 88.7% ของบัญชีออมทรัพย์ทั้งหมด หรือจำนวน 79,154,639 บัญชี มีเงินยอดฝากน้อยกว่า 50,000 บาท
ขณะที่บัญชีออมทรัพย์ที่มีเงินอยู่ที่มีเงินสะสมจำนวนอื่นๆ ที่สัดส่วนที่ต่างกันมาก ดังนี้
50,001 - 100,000 บาท มี 3,290,076 บัญชี (3.68%)
100,001 - 200,000 บาท มี 2,583,315 บัญชี (2.89%)
200,001 - 500,000 บาท มี 2,244,872 บัญชี (2.51%)
500,001 - 1,000,000 บาท มี 985,748 บัญชี (1.1%)
1,000,000 - 10,000,000 บาท มี 896,352 บัญชี (1%)
10,000,000 - 100,000,000 บาท มี 57,125 บัญชี (0.06%)
100,000,000 - 500,000,000 บาท มี 3,610 บัญชี (0.004%)
500,000,000 บาท ขึ้นไป มี 699 บัญชี (0.0007%)
นอกจากนี้ ข้อมูลจากการเข้าถึงบริการทางการเงินภาคครัวเรือน 2559 ของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า พฤติกรรมการออมของคนไทยโดยส่วนใหญ่ตั้งเป้าหลักๆ ไว้ว่า ออมเงินไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉินหรือเจ็บป่วย 37.5% ออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณ 29.9% และใช้สำหรับบริหารรายรับ-รายจ่าย 12.8%
ตัวเลขเหล่านี้มองได้หลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยไม่เห็นความสำคัญของการออมอย่างจริงจัง หรือช่องว่างความเหลื่อมล้ำยังคงเวิ้งว้างมาทุกยุคทุกสมัย ฯลฯ
จงกลัวไม่มีกิน อย่ากลัวไม่มีเหมือนเพื่อน
ไลฟ์สไตล์และความเป็นอยู่ที่เน้นการเจริญของวัตถุ ที่ต้องมีแบบคนนั้น ต้องใช้แบบคนนั้น ต้องไปแบบคนโน้น ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ยิ่งทำให้การออมถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่เชื่อเถอะว่าทุกคนทำได้ และสามารถทำไปพร้อมๆ กับการหาความสุขให้ชีวิตได้ด้วย
ที่ผ่านมาหลายคนบริหารเงินตามสมการแบบแรก คือ “เงินได้ - เงินใช้จ่าย = เงินออม” ทำให้เก็บเงินไม่ได้สักทีเพราะใช้เท่าไหร่ก็ไม่พอ ใช้ยังไงก็ไม่เหลือเก็บ
ในทางกลับกัน คนที่เก็บเงินสำเร็จจะเกิดการจากสมการ “เงินได้ - เงินออม = เงินใช้จ่าย” เข้าวลีเงินที่ไม่เห็นคือเงินที่ไม่ได้ใช้ หากทำตามสมการที่ 2 โดยแบ่งเงินจากรายได้มาออมอย่างน้อย 10% ของทุกๆ เดือน โอกาสปั้นเงินก้อนสำหรับอนาคตก็ไม่ใช่แค่เรื่องยาก ซึ่งเงินที่ถูกหักออกเพื่อเก็บสามารถทำได้หลาหลายวิธีตามความสะดวกของแต่ละคน
ไม่ว่าเริ่มต้นจากการ ออมผ่านบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคาร ที่อาจใช้วิธีไม่ใช้บัตรเอทีเอ็มหรืออีแบงก์กิง สร้างความลำบากเล็กๆ ในการถอน
ออมผ่านบัญชีฝากประจำ ต้องฝากตามจำนวนและถอนตามระยะเวลาที่ธนาคารกำหนด ได้ดอกเบี้ยขยับขึ้นมาจากฝากแบบออมทรัพย์อีกนิด
หรือจะ ออมแบบลงทุน สำหรับคนที่ต้องการให้เงินสะสมที่มีอยู่งอกเงยก็สามารถศึกษาการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสรับดอกเบี้ยที่มากขึ้นกว่าการฝากในบัญชีออมทรัพย์ หยอดกระปุก หรือผังดิน เช่น การลงทุนในกองทุน หุ้น พันธบัตร หุ้นกู้ ฯลฯ ซึ่งผลตอบแทนก็มีความแตกต่างกันออกไปตามความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ
ไม่ว่าจะเป็นการเก็บแบบไหน แต่ผลลัพธ์จากการสร้างนิสัยออมก่อนใช้อย่างสม่ำเสมอจะเป็นจุดเริ่มต้นทางการเงินที่ดี ที่อาจทำให้เงินออมในบัญชีของคุณกระโดดอยู่กลุ่มที่มั่งคั่งขึ้นตามกำลังของตัวเอง ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ฉะนั้น อย่าปล่อยให้ความสุขในวันนี้ตามไปหลอกหลอนคุณในอนาคตในรูปแบบของความจน ที่อาจทำให้ทรมานกว่าการเจียดเงินไปออมหลายร้อยหลายพันเท่า
นอกจากวันที่ 31 ตุลาคม จะเป็นวันฮาโลวีนตามความเชื่อทางตะวันตกแล้ว ยังเป็น "วันออมแห่งชาติ" ของไทย และถึงเวลาที่คนไทยต้องเริ่มออมเงิน และวางแผนทางการเงินก่อนที่จะถูกความจนหลอกหลอน