ความสัมพันธ์ระหว่าง ภาวะโลกร้อน กับ ภูเขาไฟ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานแล้ว แต่ทั้งสองสิ่งก็มีความเชื่อมโยงกันอยู่บ้าง
เมื่อเร็วๆ นี้ ภูเขาไฟตาอัล ประเทศฟิลิปปินส์ เกิดปะทุอย่างรุนแรง พร้อมพ่นลาวาและเถ้าถ่านสูงประมาณ 15 กิโลเมตร ทางการได้สั่งอพยพประชาชนราว 30,000 คนไปยังที่ปลอดภัย อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานความเสียหาย รวมถึงผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
มีตำนานมากมายเล่าขานเกี่ยวกับภูเขาไฟและอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น หนึ่งในเรื่องที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้งคือ “ข้อกล่าวอ้างเท็จ” ที่ว่าเถ้าถ่านที่ออกมาจากการปะทุของภูเขาไฟนั้น เป็นตัวกระตุ้นหลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน
แต่กระนั้นก็มีหลักฐานว่า ภูเขาไฟ และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเกี่ยวข้องกัน หลักฐานชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็วทำให้เกิดการปะทุของภูเขาไฟในอดีต และในทางกลับกัน การปะทุของภูเขาไฟในอดีตก็กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันและอนาคต ประกอบด้วย 5 เหตุผลดังต่อไปนี้
1.ในประวัติศาสตร์โลก มีความเชื่อมโยงมากมายระหว่างภาวะโลกร้อนกับภูเขาไฟ
แน่นอนว่า กิจกรรมของมนุษย์ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการระเบิดของภูเขาไฟ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ วงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) ของมหาสมุทรแปซิฟิก ภูเขาไฟเกิดขึ้นมากมายในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากเกิดการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก อย่างไรก็ตาม สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยังเชื่อมโยงกับการปะทุของภูเขาไฟในบางพื้นที่ของโลก
มีผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐเมื่อเดือนกันยายน 2560 พบว่า การลดขนาดลงของธารน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกา (ขั้วโลกใต้) ในช่วง 17,700 ปีที่ผ่านมา เชื่อมโยงกับการระเบิดของภูเขาไฟหลายครั้งในช่วงระยะเวลา 200 ปี
ไมเคิล มังกา ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์โลกและดาวเคราะห์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ กล่าวว่า ถึงแม้น้ำในมหาสมุทรและน้ำแข็งสร้างแรงกดดันต่อเปลือกโลกซึ่งสามารถกักเก็บหินหนืดหรือแม็กมาได้ แต่หากน้ำแข็งละลายค่อนข้างรวดเร็ว แม็กมาก็มีแนวโน้มจะปะทุออกจากเปลือกโลก “หลังจากธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ละลายไปแล้ว เราจะเห็นภูเขาไฟปะทุบ่อยขึ้น ดังนั้นไม่เพียงแต่ภูเขาไฟส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศเท่านั้น แต่สภาพอากาศยังมีผลกระทบต่อภูเขาไฟด้วยเช่นกัน”
2. ภูเขาไฟทำให้เกิดภาวะโลกร้อนในระยะยาว และทำให้โลกเย็นลงในระยะสั้น
สำนักสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐ (ยูเอสจีเอส) ระบุว่า เมื่อภูเขาไฟระเบิด มันจะพ่นเถ้าถ่านและละอองขนาดเล็กขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้โลกเย็นลงได้ แม้โดยทั่วไปจะอยู่บนชั้นบรรยากาศเพียงไม่กี่วันหรือหลายสัปดาห์ก่อนจะหายไปจากชั้นบรรยากาศ
อนุภาคในอากาศช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์ซึ่งทำให้โลกอบอุ่น และอนุภาคที่ถูกปล่อยออกมาคือก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งสามารถทำให้เกิดความเย็น เมื่อก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ถูกเปลี่ยนเป็นกรดซัลฟูริก มันจะสร้างละอองขนาดเล็กสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์ออกจากโลก และทำให้อุณหภูมิเย็นขึ้น
ยกตัวอย่างการปะทุของภูเขาใหญ่ครั้งใหญ่ เช่น ภูเขาไฟปินาตูโบของฟิลิปปินส์ในปี 2534 ผลจากอุณหภูมิที่เย็นลงสามารถคงอยู่ได้นานหลายปี การปะทุดังกล่าวทำให้อุณหภูมิโลกลดลงเป็นเวลา 3 ปี โดยลดลงมากสุดถึง -16.9 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ตาม การปะทุของภูเขาไฟจะไม่ช่วยเราให้รอดพ้นจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ผลจากอุณหภูมิที่เย็นลงเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น และในขณะที่โลกเย็นลง ภูเขาไฟก็จะปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาอย่างมหาศาล
3. ภูเขาไฟกระตุ้นความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในระยะสั้นต่อสภาพอากาศในอดีต
ศาสตราจารย์มังกา ระบุว่า การปะทุของภูเขาไฟในอดีตระดับที่ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากต่อโลก รวมไปถึงการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต การปะทุของภูเขาไฟเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก 2-3 องศาเซลเซียสและอาจมากถึง 7 หรือ 8 องศาเซลเซียสต่อภูมิภาค เทียบเท่าความแตกต่างของอุณหภูมิในแคนาดาและไมอามี
เขายกตัวอย่างงานวิจัยที่พบว่า การปะทุครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 37,000 ปีก่อน สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใกล้กับเมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี และอาจทำให้มนุษย์ยุคหินจำนวนมากล้มตาย
อย่างไรก็ตาม ภูเขาไฟก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงชั่วคราว ซึ่งสร้างสมดุลให้กับชั้นบรรยากาศในท้ายที่สุด
"มันเป็นสิ่งที่คุณได้กลับมา และผมคิดว่านั่นคือความแตกต่างเนื่องด้วยความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์" มังกากล่าว
"เรากำลังเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของเรา เพราะเราเพิ่มปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และนั่นไม่ใช่สิ่งที่ฟื้นตัวได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ในขณะที่ผลกระทบที่ทำให้อากาศเย็นลงของภูเขาไฟ คือก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ และในที่สุดก็กลายเป็นฝนตกลงมาเมื่อเวลาผ่านไป ผลกระทบเหล่านั้นจะสลายไปอย่างรวดเร็ว"
4. การพยากรณ์สภาพอากาศไม่ควรมองข้ามปัจจัยภูเขาไฟ
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเชอร์ ไคลเมต เชนจ์เมื่อเดือน ส.ค. 2560 ชี้ว่า ผลกระทบจากภูเขาไฟจำเป็นต้องนำมาใช้การคาดการณ์สภาพภูมิอากาศในอนาคต
เอ็ด ฮอว์กินส์ นักอุตุนิยมวิทยาจากมหาวิทยาลัยรีดดิงในอังกฤษ กล่าวว่า ขณะที่นักวิจัยทำนายอนาคตจากแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ (Climate models) พวกเขาจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยการปะทุของภูเขาไฟครั้งใหญ่ในศตวรรษหน้าด้วย
"การจะทำนายอย่างแม่นยำว่าความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อโลกอย่างไร นักวิจัยต้องคำนึงถึงระยะเวลาชั่วคราวของอุณหภูมิที่เย็นลงจากภูเขาไฟด้วย"
ฮอว์กินส์เขียนในเมล ”รวมไปถึงการปะทุบางส่วนทำให้การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกแปรปรวนมากขึ้น แต่เนื่องจากผลกระทบจากภูเขาไฟปะทุเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว จึงไม่สามารถลดผลกระทบภาวะโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจกในศตวรรษหน้าได้"
5. คำกล่าวอ้างว่าภูเขาไฟเป็นตัวกระตุ้นหลักของภาวะโลกร้อน "ไม่จริง"
กลุ่มคนที่ไม่เชื่อหลักวิทยาศาสตร์ที่ว่ามนุษย์เป็นตัวกระตุ้นหลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น มักโต้แย้งว่าภูเขาไฟเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของภาวะนี้ ด้วยการหาเหตุผลสนับสนุนเรื่องภูเขาไฟเกินจริง พร้อมกับพยายามทำให้เรื่องการปลดปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลดูเลวร้ายน้อยลง
คนกลุ่มนี้อ้างแบบผิดๆ ว่า ภูเขาไฟปะทุกระตุ้นการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และอาจกระตุ้นได้มากกว่ากิจกรรมของมนุษย์ด้วย
ผลการศึกษาในปี 2554 พบว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของภูเขาไฟเฉลี่ยเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนในรัฐมิชิแกน รัฐฟลอริดา และรัฐโอไฮโอของสหรัฐ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในแต่ละปียังเทียบเท่ากับกิจกรรมของมนุษย์ประมาณ 3-5 วัน
ยูเอสจีเอสระบุว่า ภูเขาไฟปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นไม่ถึง 1% ของก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากมนุษย์
หนึ่งในคำถามที่ เทอร์เรนซ์ เจอร์ลาช ของยูเอสจีเอสพบบ่อยที่สุดคือ “ภูเขาไฟปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่ามนุษย์หรือไม่” ซึ่งเขาบอกว่า ผลงานวิจัยหลายชิ้นตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจนว่า “ไม่”
"การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากน้ำมือมนุษย์ ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภูเขาไฟทั่วโลกกลายเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไปเลย" เจอร์ลาชระบุ
เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพ การระเบิดของภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ในรัฐวอชิงตันเมื่อปี 2523 ส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 10 ล้านตันสู่ชั้นบรรยากาศภายในเวลาเพียง 9 ชั่วโมงจากข้อมูลของยูเอสจีเอส เทียบกับกิจกรรมมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณเท่ากันในเวลาเพียง 2 ชั่วโมงครึ่ง!
เรื่อง : เบญจวรรณ บั้งจันอัด, ภานุพงศ์ วัฒนเสรีกุล
ภูเขาไฟปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นไม่ถึง 1% ของก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากมนุษย์