โลกคือละคร ดังนั้นแล้วฉากในละครก็คือตัวแทนหนึ่งในชีวิตจริง ไม่เว้นแต่ฉากประท้วง ชุมนุมของกลุ่มคน ภาพยนตร์เรื่อง JOKER ได้สร้างฉากการประท้วงโดยใช้หน้ากากเป็นอุปกรณ์ประกอบ นี่คือ ตัวอย่างของการ ประท้วงเชิงสัญลักษณ์ ในโลกความเป็นจริง การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ถือเป็นวิธีการที่แพร่หลายที่สุดในโลก จึงอยากพาทำความรู้จักการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ที่ส่งผลถึงปัจจุบัน
การประท้วง ถือเป็นการแสดงออกด้วยการกระทำ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคัดค้าน หรือ ไม่เห็นด้วย มีหลากหลายวิธีรวมถึงการ 'ประท้วงเชิงสัญลักษณ์' เพื่อแสดงว่าเป็นพวกเดียวกัน เป็นการร่วมกลุ่มคนที่มีแนวคิดคล้ายๆ กัน รวบรวมความกระจัดกระจายให้มาเป็นหนึ่งเดียวกัน
หน้ากาก Guy Fawkes Mask
ฉากการประท้วงในภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลุกฮือของพลเมืองชั้นล่างในเมืองก็อธแธมเองก็ตามมักจะมีมีสัญลักษณ์ หน้ากาก ในการชุมนุม นอกจากในภาพยนตร์แล้ว หน้ากากขาวพร้อมรอยยิ้มแสยะ คือสัญลักษณ์การประท้วงในโลกความเป็นจริงครั้งสำคัญหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น
· ปี 2008 พวก “นักแฮกเกอร์นิรนาม” นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ ระหว่างชุมนุมช่วยเหลือ “จูเลียน แอสแชงจ์” เจ้าของ เว็บไซต์วิกิลีค ที่โดนขังในอังกฤษ คดีที่ 2 สาวสวีเดนแจ้งจับข่มขืน
· ปี 2011 ชาวอเมริกัน นำมาใช้ในระหว่างการชุมนุมปิดล้อมยึดครองตลาดหุ้นวอลสตรีท Occupy Wall Street เพื่อต่อต้านระบบทุนนิยม จนเกิดความปั่นป่วนต่อตลาดหุ้นทั่วโลก
· ปี 2019 การประท้วงในฮ่องกง จนรัฐบาลประกาศห้ามประชาชนสวมใส่หน้ากาก
หน้ากากขาวนั้นมีชื่อว่า หน้ากากกาย ฟอว์คส์ (Guy Fawkes Mask) จุดเริ่มต้นของการเป็นสัญลักษณ์การชุมนุมนั้นเริ่มต้นในอังกฤษ ปี 1604 “พระเจ้าเจมส์ 1” บนเกาะบริเตนใหญ่ หรืออังกฤษ มีเรื่องพิพาทกับ “นักบวชคริสต์นิกายคาทอลิก” จึงตั้งนิกาย English Church ขึ้นมา พร้อมกับปราบปรามพวกคาทอลิก
ชายหนุ่มคนหนึ่งเป็นชาวคาทอลิก เรียกขานตัวเองว่า กาย ฟอว์คส์ (Guy Fawkes ) ได้ตั้งตัวเป็นหัวหน้า ต่อสู้ต่อต้านการปกครองที่กดขี่ข่มเหงและขี้โกงของพระเจ้าเจมส์ 1 กับบรรดาสมาชิก สภาขุนนาง
ต่อมากลุ่มกาย ฟอว์คส์ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีผู้ใดเคยเห็นหน้าของตัวเขา เนื่องจากจะซ่อนใบหน้าไว้ใต้หน้ากากตลอดเวล พร้อมกับวางแผนลอบฆ่าสมาชิกสภาขุนนางอังกฤษให้ตายทั้งหมด พร้อมกับพระเจ้าเจมส์ 1 ด้วยการวางระเบิดอาคารสภา (House of Lords)
วันที่ 5 พ.ย.1605 กลุ่มกาย ฟอว์คส์ ถูกตำรวจลับจับไว้ได้ก่อนจะได้จุดระเบิด เรียกเหตุการณ์นี้ในยุคนั้นว่า “กบฏดินปืน” (Gunpowder plot) จึงถูกประหารชีวิตต่อมา เมื่ออังกฤษเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว รัฐบาลอังกฤษได้จัดงานฉลอง วันกบฏดินปืน ทุกคืน 5 พฤษภาคม ของทุกปี เรียกว่า Bonfire Night เพื่อเชิดชูความกล้าหาญ และการกล้าที่จะต่อสู้กับความไม่ถูกต้องของผู้ครองอำนาจรัฐ
เรื่องราวนี้ถูกนำมาเขียนเป็นหนังสือการ์ตูน และในปี 2006 ถูกสร้างเป็นหนังบนแผ่นฟิล์มชื่อ “V for Vendetta” อย่างไรก็ตามหน้ากากที่เราเห็นในวันนี้ได้รับการออกแบบโดยนักวาดภาพประกอบ David Lloyd
สวยเก๋ของใบหน้าสีขาว ที่มีรอยยิ้มลึกลับ และแก้ม สีแดง หนวดกว้างหงายที่ปลายทั้งสอง และเคราบางแหลมแนวตั้ง คือลักษณะเฉพาะของหน้ากาก
หลังจากหนังออกฉาย หน้ากากกาย ฟอว์คส์ (Guy Fawkes Mask) ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงที่นิยมไปทั่วโลก
เกลือ
สัตยาเคราะห์เกลือ (Salt Satyagraha) หรือ Salt March เป็นการแสดงออกทางการเมืองในการประท้วงรัฐบาลอังกฤษในอินเดีย นำโดย มหาตมะ คานธี (Mohandas Gandhi) ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ค.ศ. 1930 นับเป็นการเดินขบวนครั้งแรกในการรณรงค์การ“ดื้อแพ่ง” ซึ่งได้รับความสนใจไปทั่วโลก
การผลิต และจำหน่ายเกลือในอินเดียนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับชาวอินเดีย เพราะเกลือถูกสงวนให้กับกิจการของอังกฤษ เนื่องจากอังกฤษต้องการผูกขาดเกลือไว้ซึ่งได้ทำกำไรให้อังกฤษมายาวนาน โดยได้ผ่านกฎหมายหลายฉบับตั้งแต่พระราชบัญญัติเกลือ ค.ศ.1882 ที่ห้ามชาวอินเดียผลิตหรือจำหน่ายเกลือด้วยตนเอง นั่นทำให้ชาวอินเดียต้องซื้อเกลือราคาแพงกว่าปกติเพราะต้องบวกภาษีเพิ่มเข้าไปอีกทำให้เกลือมีราคาสูง
เรื่องเกลือนี้ส่งผลกระทบต่อชาวอินเดียส่วนใหญ่ที่ยากจน และไม่สามารถซื้อเกลือได้ด้วยเงินของตนเอง การประท้วงต่อต้านภาษีเกลือของอินเดียเริ่มต้นในศตวรรษที่ 19 ซึ่งยังคงเป็นประเด็นถกเถียงที่สำคัญมาตลอดระยะเวลาหลายปีของการปกครองอินเดียของอังกฤษหรือบริติชราช
ปี 1930 มหาตมะ คานธี ชนชั้นสูงชาวอินเดียจึงตัดสินใจเดินเท้าประท้วงพร้อมผู้ติดตามหลายคนจากเมืองอาห์มาดาบัด (Ahmadabad) รัฐคุชราตไปยังเมืองดานดิ (Dandi) บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก เมื่อไปถึงชายทะเลก็กอบเกลือกำมือหนึ่งขึ้นมา เป็น การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการผลิตเกลือ
หลังจากนั้น เขาเดินประท้วงผลิตเกลืออย่างต่อเนื่องจนถูกจับ แต่แทนที่เรื่องจะเงียบ คนอินเดียหลายหมื่นคนออกมาเดินไปหาเกลือเองแบบคานธีบ้างจนถูกจับจำคุกกว่า 60,000 คนภายในเวลาหนึ่งปี
ข้าหลวงใหญ่แห่งอังกฤษประจำอินเดียเจรจาให้คานธียุติการประท้วงนี้ แต่ข่าวการจับกุมผู้ประท้วงก็ได้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อนานาชาติ จนไม่นานก็เป็นสาเหตุให้อังกฤษมอบเอกราชแก่อินเดียในเวลาต่อมา
เกลือจึงกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย
เสื้อกั๊กเหลือง
ชาวฝรั่งเศสสวมกั๊กเหลือง ชักชวนกันผ่านกรุ๊ปเฟซบุ๊ก ออกมาประท้วงบนท้องถนนทั่วประเทศในเดือนพฤจิกายน 2561 ต่อต้านนโยบายขึ้นภาษีน้ำมันของรัฐบาล และมาตรการรักษ์โลกอื่นๆ ซึ่งเป็นการประท้วงที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ของฝรั่งเศส
ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีเอมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสประกาศชัดเจนตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้งว่าจะให้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นนโยบายหลัก เมื่อได้เป็นรัฐบาลจึงได้ออกมาตรการหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการขึ้นภาษีสำหรับน้ำมันดีเซล สร้างความไม่พอใจแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจในฝรั่งเศสอยู่ในช่วงวิกฤตจึงมีผู้เข้าร่วมประท้วงปริมาณมหาศาลในทุกๆ วันเสาร์
ทำไมต้องเสื้อกั๊กเหลือง?
“เสื้อกั๊กสีเหลือง” เป็นเสื้อที่ผู้ขับขี่รถทุกคันในฝรั่งเศส ต้องมีไว้ในรถของตน ตามกฎหมายของประเทศ ที่เริ่มบังคับใช้เมื่อปี 2008 (พ.ศ.2551)โดยถือเป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น รถเสียกลางทาง ผู้ขับขี่ก็จะต้องสวมเสื้อกั๊กนี้ ให้ผู้ขับขี่รถยนต์คันอื่นๆ เห็นได้ชัดเจน ทั้งนี้ หากผู้ขับขี่รถคันใดไม่มีเสื้อกั๊กสีเหลือง ก็จะถูกปรับเป็นเงิน 135 ยูโร การที่ประชาชนสวมใส่กั๊กเหลืองนั่นหมายความว่า ประชาชนกำลังอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ได้รับความเดือดร้อน จากการขึ้นภาษีน้ำมันของนายกรัฐมนตรีเอมานูเอล มาครง
การประท้วงของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง มีความยืดเยื้อ และมีรุนแรงอย่างควบคุมไมได้ สุดท้าย นายมาครงก็ต้องยอมถอย ประกาศยกเลิกแผนการขึ้นภาษีตรึงค่าไฟฟ้า และแก๊ส รวมถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ลดภาษีต่าง ๆ มากมายแม้จะทำให้ขาดดุลงบประมาณ ทำให้ผู้ประท้วงส่วนใหญ่พอใจ
ตอนนี้ผ่านไปครึ่งปียังคงมีการประท้วงเสื้อกั๊กเหลืองอยู่ทุกวันเสาร์ แม้ผู้เข้าร่วมจะน้อยลงมาก ๆ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญต่างๆ กลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง ก็ยังคงเคลื่อนไหวอยู่เสมอ อย่างกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองได้วิพากษ์วิจารณ์การบริจาคเงินเพื่อบูรณะซ่อมแซมภายหลังเหตุเพลิงไหม้อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีสว่ากลุ่มคนรวยในประเทศฝรั่งเศส บริจาคเงินเพื่อที่จะได้ลดภาษี
นกหวีด
วันที่ 31 ตุลาคม 2556 เสียงนกหวีดแรกที่ดังขึ้นที่สถานีรถไฟสามเสน เพื่อต่อต้านการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม “ฉบับสุดซอย” ของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมบนท้องถนนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ภายใต้การบริหารจัดการของ 9 อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งต่อมาเรียกตัวเองว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)
มวลประชาชน กับ นกหวีดคู่ใจ คือหนึ่งในภาพประวัติศาสตร์การเมืองไทย และถือว่านกหวีดเป็นสัญลักษณ์ในการชุมนุมประท้วงในปี 2556
“นกหวีด” เป็นแนวคิดของ สุเทพ เทือกสุวรรณ ทว่าคนที่ทำให้เป็นจริงคือ เถกิง สมทรัพย์ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์บลูสกาย ที่จัดทำ “นกหวีดสายล่อฟ้า” จนฮิตติดตลาดไปทั่ว
“กำนันสุเทพบอกว่าที่นึกถึงนกหวีด เพราะสมัยก่อน เวลาครูจะเรียกรวมเด็ก จะเป่านกหวีด ก็เป็นสัญลักษณ์ที่หาง่าย ยังไม่มีใครใช้ แต่จุดเด่นคือใช้ทำได้หลายอย่าง แสดงออกว่าชอบใจ-ไม่ชอบใจ ใช้ได้หมด” สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีไทยเมื่อ 30 ตุลาคม 2560
ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่นำเอานกหวีดมาเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง ก่อนหน้านี้นกหวีดมีบทบาทในการเมืองทั้งประเทศอังกฤษ และออสเตรเลีย
จุดเริ่มต้นของการเป่านกหวีด (Whistleblower) มาจาก “ราล์ฟ เนเดอร์” (Ralph Nadar) นักกฎหมาย นักเขียนและนักต่อสู้เพื่อสังคมชาวอเมริกัน ผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของอเมริกา ในปี ค.ศ. 1970 เขาได้ตัดสินใจเป่านกหวีดในสภา เพื่อเตือนรัฐบาลที่เริ่มมีพฤติกรรมทุจริตในการบริหารบ้านเมือง
คำว่า Whistleblower แปลตรงตัวได้ว่า “คนเป่านกหวีด” ซึ่งคนเป่านกหวีด เปรียบเสมือนผู้มีหน้าที่แจ้งว่า มีการกระทำที่ส่อไปในทางผิดกฎหมายเกิดขึ้นอย่างไรก็ตาม ช่วงต่อมาอเมริกาก็ได้มีการร่างกฎหมายเกี่ยวกับ คนเป่านกหวีด ชื่อว่า Whistleblower Protection Act 1989 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการคุ้มครอง โดยคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐ และข้อมูลที่มีความเชื่อมโยงหรือเผยให้เห็นถึงการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น การใช้อำนาจโดยมิชอบ การคอรัปชั่น เป็นต้น โดยผู้ที่มีข้อมูลการทุจริตสามารถรายงานให้แก่ผู้บังคับบัญชา หรือหน่วยงานภายนอกได้ อีกทั้งยังมีการพัฒนากฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้ที่เป่านกหวีดแจ้งเบาะแส โดยมีบทลงโทษนายจ้างที่มีการขมขู่ หรือกลั่นแกล้งพนักงาน
นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังมีการสร้างแรงจูงใจการเป็นคนเป่านกหวีดโดยตอบแทนเป็นเม็ดเงินให้แก่ผู้ที่ให้ข้อมูลการกระทำความผิดอีกด้วย อย่างไรก็ตามกฏหมายที่ว่านี้ก็ยังมีจุดอ่อนตรงที่คุ้มครองแค่เพียงเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น ซึ่งต่อมาหลากหลายประเทศก็ได้ให้ความสำคัญกับกฏหมายในลักษณะนี้ เช่น ประเทศอังกฤษ ประเทศออสเตรเลีย
อ้างอิง
https://www.bbc.com/thai/international-45103631
Salt March. (2018), fromwww.history.com
https://www.independent.co.uk/news/uk/home-news/anonymous-how-the-guy-fawkes-mask-became-an-icon-of-the-protest-movement-a6720831.html
คณะกรรมการคุ้มครองกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (www.lawreform.go.th)
จิราภา ภิญญสาสน์
การประท้วง ถือเป็นการแสดงออกด้วยการกระทำ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคัดค้าน หรือ ไม่เห็นด้วย มีหลากหลายวิธีรวมถึงการ 'ประท้วงเชิงสัญลักษณ์' เพื่อแสดงว่าเป็นพวกเดียวกัน เป็นการร่วมกลุ่มคนที่มีแนวคิดคล้ายๆ กัน รวบรวมความกระจัดกระจายให้มาเป็นหนึ่งเดียวกัน