หลังจาก "กัญชา" ปลดล็อก ไปหลายประเทศ "กระท่อม" ดูจะเป็นพืชอีกตัวที่ถูกพูดถึง โดยทางการไทยเองยังไม่ได้มีท่าทีกับเรื่องนี้ แต่ที่มาเลเซียนั้น กระแสกระท่อม กลับมาแรง และถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ
เว็บไซต์แชนเนลนิวส์เอเชียให้รายละเอียดว่า กระท่อม หรือ "เกอตุม" ในภาษามาเลย์ที่ชาวบ้านปลูกไว้บรรเทาอาการเจ็บปวด และมีฤทธิ์กระตุ้นร่างกายอย่างอ่อนๆ
กระท่อมเป็นพืชวงศ์เดียวกับกาแฟ ชาวมาเลเซียตอนเหนือบริโภคมาหลายร้อยปีแล้ว เพื่อบรรเทาอาการปวดหลัง ไข้ ไอ และรักษาโรคจำพวกเบาหวานและความดันโลหิตสูง
แต่กฎหมายสารพิษ ปี 2495 กำหนดให้การปลูกและขายพืชชนิดนี้เป็นความผิด การปลูกกระท่อมเพื่อใช้ส่วนตัวจึงยังคลุมเครือ ขณะนี้รัฐบาลมาเลเซียกำลังพิจารณาแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ต่อไปการปลูกกระท่อมโดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นความผิด
เมื่อเดือน กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย ออกมาเผยว่า การแก้ไขกฎหมายจะห้ามการเพาะ ปลูก นำเข้า ส่งออก จัดหา หรือครอบครองพืชที่ออกฤทธิ์ทางจิตอย่างกระท่อม ทั้งนี้เพื่อควบคุมการใช้กระท่อมเกินขนาด โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นมาเลเซีย ที่ใช้ผสมกับยาแก้ไอและคาเฟอีน
ใบกระท่อมมีสารกระตุ้นประสาท ทำให้กระปรี้กระเปร่า สบายใจร่าเริง และอาจเสพติดได้ แน่นอนว่าการแก้ไขกฎหมายย่อมเปรียบเสมือนยาขมสำหรับผู้ใช้ และคนปลูก
ตามกฎหมายมาเลเซีย บุคคลใดกระทำความผิดฐานนำเข้า ส่งออก ผลิต หรือขายกระท่อม อาจมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 ริงกิต หรือจำคุกไม่เกิน 4 ปี
เกษตรกรรายหนึ่งในหมู่บ้านเปอร์มาตังราวาที่ปลูกกระท่อมไว้ครึ่งไร่เพื่อการวิจัย อ้างว่า เคยมีนักวิจัยชาวอเมริกันรายหนึ่งเสนอให้เขาส่งกระท่อมไปให้ในราคากิโลกรัมละ 30 ดอลลาร์ แต่เขาตกลงด้วยไม่ได้เพราะไม่อยากทำผิดกฎหมาย
.
“กฎหมายเก่าล้าสมัย ถ้าผมส่งใบกระท่อมไปขายต่างประเทศได้ ป่านนี้ผมเป็นเศรษฐีไปแล้ว เพื่อนบ้านก็เหมือนกัน”
ที่หมู่บ้านแห่งนี้ปลูกกระท่อมกันแทบทุกบ้าน อากาศร้อนชื้นของที่นี่เหมาะกับการปลูกกระท่อม แต่หลายคนเสียดายที่ไม่สามารถทำประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้
แชนเนลนิวส์เอเชียระบุว่า เกษตรกรในอินโดนีเซียและไทยส่งออกกระท่อมได้ ข้อมูลจากปี 2559 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งกระท่อมไปสหรัฐเดือนละ 400 ตัน เท่ากับว่าธุรกิจนี้มีมูลค่า 130 ล้านดอลลาร์ต่อปี
ยุโรปก็มีการใช้กระท่อมด้วยเช่นกัน การแข่งขันจักรยานตูร์เดอฟรองซ์ นักปั่นจากทีมจัมโบวิสมาของเนเธอร์แลนด์ดื่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “คีโตน” ตลอดการแข่งขัน เพื่อช่วยฟื้นเรี่ยวแรงและบำรุงกำลัง
คีโตนมีส่วนผสมของกระท่อมที่องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (ดับเบิลยูเอดีเอ) ไม่ได้ห้ามใช้ เกษตรกรอีกรายในบูกิตเมอร์ตาจาม ผู้ไม่เปิดเผยนาม อ้างว่า บริษัทยาแห่งหนึ่งของยุโรปเสนอเงินหลายหมื่นริงกิตให้เขาส่งใบกระท่อมไปให้เพื่อผลิตยา
“ผมอยากจะตกลงเหมือนกัน แต่ติดคุกกับถูกปรับมันไม่คุ้ม” เกษตรกรนิรนามเผย พร้อมยอมรับว่าเขาใช้กระท่อมรักษาอาการไซนัสและควบคุมเบาหวาน
“ถ้านักกีฬาในยุโรปใช้ได้ ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมมาเลเซียต้องมีท่าทีขึงขังกับกระท่อม”
ด้านนักวิจัยยาจากมหาวิทยาลัยเซนส์มาเลเซียเผยว่า รัฐบาลไม่ควรรีบห้ามปลูกกระท่อม แต่ควรร่วมมือกับนักวิจัยศึกษาถึงผลบวกของพืชชนิดนี้ ผลวิจัยชี้ว่า ผู้เสพเฮโรอีนใช้กระท่อมรักษาอาการติดเฮโรอีนและลงแดง
“กระท่อมไม่มีปัญหาทางการแพทย์ จนถึงขณะนี้ไม่เคยมีใครตายเพราะใช้กระท่อมเกินขนาด ที่น่าเศร้าคือรัฐบาลตัดสินใจโดยไม่วิจัย ไม่เคยร่วมงานกับผู้รู้ตอนที่กำหนดมาตรการนี้ขึ้นมา”
อย่างไรก็ตาม สถาบันศึกษาการใช้ยาเกินขนาดของสหรัฐเผยว่า ใบกระท่อมมีสารประกอบที่ส่งผลต่อจิตใจ กระท่อมที่ค้าขายกันบางครั้งเจือปนสารประกอบอื่นที่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
แชนเนลนิวส์เอเชียระบุว่า เกษตรกรในอินโดนีเซียและไทยส่งออกกระท่อมได้ ข้อมูลจากปี 2559 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งกระท่อมไปสหรัฐเดือนละ 400 ตัน เท่ากับว่าธุรกิจนี้มีมูลค่า 130 ล้านดอลลาร์ต่อปี