โลกออนไลน์มีประโยชน์มหาศาล เป็นแหล่งรวมของข้อมูลล้ำๆ และโอกาสใหม่ๆ เราเห็นผู้คนสร้างรายได้ สร้างผลงานให้ตัวเองจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ได้โดยเริ่มจากการใช้ Facebook หรือ Instagram ส่วนตัว จากไอดอล (Net Idol) กลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) จากยูทูบเบอร์ (YouTuber) บนโลกออนไลน์ กลายเป็นนักดนตรีและนักแสดงที่มีชื่อเสียงในชีวิตจริง
ดูๆ แล้วเหมือนกับว่าโลกออนไลน์จะมีแต่มุมบวก แต่ในเวลาที่ความสดใสแห่งโอกาสได้เปิดกว้าง เราก็มักได้ยินเรื่องราวในด้านมืดตามติดมาด้วยเช่นกัน และเรื่องที่ว่านี้ก็ทำให้เราต้องระมัดระวังกับโลกออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การถูกล่อลวง, Facebook โดนแฮ็ก, โอนเงินซื้อแล้วได้ของไม่ตรงกับที่สั่ง, สร้างบัญชีปลอม (แอคหลุม) ไว้ใช้ด่าทออีกฝ่าย, การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ฯลฯ
เวลาที่เราได้ยินเรื่องราวที่ไม่ดีในโลกออนไลน์ เราเองก็แปลกใจว่าทำไมเรื่องที่เกิดขึ้นถึงใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด แถมบางกรณีก็ชวนสงสัยว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับเพื่อนของเราคนนี้ได้อย่างไร ทั้งที่เขาหรือเธอก็ดูเป็นคนเรียนเก่ง และสุภาพมากๆ ใช้ชีวิตแบบปกติทั่วไป แต่ในโลกออนไลน์เขากลับทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป
คนเก่ง คนดี ถูกหลอกได้
ว่ากันว่า ความเก่งกาจในชีวิตจริง กับการเป็นคนที่มีทักษะชีวิตที่จะสามารถจัดการปัญหา เอาตัวรอด และไม่ถูกหลอกง่ายๆ ในโลกออนไลน์ เป็นคนละเรื่องกันอย่างสิ้นเชิง
แล้วความเก่งในชีวิตจริงกับเก่งในโลกออนไลน์ต่างกันตรงไหน ?
ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าทักษะการเอาตัวรอดในโลกอินเทอร์เน็ตหรือโลกออนไลน์ ก็คือการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy)
ท่ามกลางข้อมูลที่ท่วมท้นบนโลกอินเทอร์เน็ต ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ คือ ทักษะของบุคคลทั่วไปในการตรวจสอบ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ต่อข้อมูลที่มีอยู่มากมาย ทั้งยังหมายถึงทักษะในการเข้าใจวัฒนธรรมใหม่ที่มาพร้อมกับการสื่อสารในโลกออนไลน์ด้วย นั่นเพราะโลกแห่งนี้เราต้องไม่ใช่เพียงแค่เท่าทันในฐานะผู้รับข่าวสาร แต่ยังต้องเท่าทันในฐานะผู้ผลิตและส่งต่อด้วย
การรู้เท่าทันสื่อ จึงหมายถึงการแยกแยะให้ได้ว่าสิ่งใดคือข่าวจริงข่าวลวง, สิ่งใดคือความเห็นหรือโฆษณาแฝงในบทความเชิงข่าว, อันไหนคือโฆษณาผลิตภัณฑ์เกินจริง, ไปจนถึงการคิดวิเคราะห์แยกแยะที่มาของบทความว่าอันไหนคือบทความเชิงการค้า (Advertorial) หรือเป็นข้อมูลจากผู้ใช้จริง
ยกตัวอย่าง บทความรีวิวสินค้า ภาพถ่ายเพื่อการโฆษณา ไลฟ์สไตล์สุดเท่ ดูรวย ของบรรดาอินฟลูเอนเซอร์รูปร่างดี หน้าเรียว ขายาว นั่นก็ใช่ เมื่อพวกเขาตั้งใจโพสต์ภาพด้วยเป้าหมายหนึ่ง การนำเสนอจึงล้วนผ่านการปรุงแต่ง ทั้งหมดที่เขาเล่าผ่านภาพ Story ไม่ใช่ความจริงทั้งหมดแน่ๆ และเป็นเราเองต่างหากที่ต้องวิเคราะห์ให้เท่าทัน ว่าเรื่องราวในหน้าฟีดส์แต่ละวัน อะไรเป็นอะไร
Hard skill & Life skill
อีกข้อหนึ่งที่อธิบายว่า การเป็นคนเก่งในโลกความจริงกับความฉลาดในออนไลน์เป็นคนล่ะเรื่องกัน คือการจำแนกประเภทของทักษะที่เราใช้ในแต่ละสถานการณ์ที่พบเจออาจมีความแตกต่างกัน
การมีผลการเรียนดี ใช้คอมพิวเตอร์เก่ง มีองค์ความรู้เรื่องไอทีมากๆ รวมถึงมีทักษะในการประกอบอาชีพ ทั้งหมดที่ว่ามานั้น ถูกเรียกแบบเป็นทางการว่า “การมี Hard skill”
Hard Skill ของแต่ละอาชีพนั้นแตกต่างกัน ยกตัวอย่างว่า เป็นนักฟุตบอลก็ต้องเล่นฟุตบอลเก่ง เป็นช่างภาพก็ต้องถ่ายรูปเก่ง หรือถ้าเป็นโปรแกรมเมอร์ก็ต้องเขียน Code ได้ชำนาญ แต่ถึงอย่างนั้น การมี Hard Skill ก็เป็นคนล่ะเรื่องกับการที่จะสามารถอยู่รอดปลอดภัยในโลกออนไลน์ได้อยู่ดี
มาย-เสาวคนธ์ ศิรกิดากร นักจิตวิทยาวิเคราะห์แนวคาร์ลจุงและที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ บอกว่า ทักษะด้านการประกอบอาชีพแบบ Hard skill ไม่ได้ครอบคลุมถึง การมี Life skill ที่จำเป็นกว่าในโลกอินเทอร์เน็ต
Life skill หรือทักษะชีวิตนี้ จะครอบคลุมถึงการรู้จักตัวเอง การเข้าใจสถานการณ์ การเอาตัวรอด การไตร่ตรองและทักษะเหล่านี้นี่แหละที่จะบอกให้เราตัดสินใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อต้องเจอกับโพสต์ระบายอารมณ์ใน Facebook หรือข้อความปริศนาจากคนที่เราไม่รู้จักใน Inbox
การที่เราเจอคนแปลกหน้าทักมาในแชท Line เจอเพื่อนที่เพิ่งรู้จักกันไม่นานชวนเข้ากลุ่มแบบเสียเงินค่าสมาชิก กระทั่งการตัดสินใจเข้าไปโพสต์ระบายอารมณ์ใน Facebook ส่วนตัว ฯลฯ ทักษะ Life skill จะช่วยเราพิจารณาว่าควรทำเรื่องเหล่านี้ดีหรือไม่?
“ยิ่งเมื่อวิถีชีวิตของวัยรุ่นที่ผูกพันกับการใช้เทคโนโลยีดำเนินชีวิต เช่น เรียกรถบริการสาธารณะผ่านแอปพลิเคชั่น สั่งอาหารผ่าน Grab พูดคุยติดต่อผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างคล่องแคล่ว จึงคิดว่าตัวเองชำนาญ และประมาทจนไม่คิดว่าตัวเองจะกลายเป็นเหยื่อได้ เหล่านี้คือ อีโก้ (Ego) ที่คิดว่าเรื่องนี้เรารู้แล้ว เราเอาอยู่ เราจัดการได้ เจอแบบนี้คิดเองได้ ไม่ต้องปรึกษาใคร ความมั่นใจแบบนี้ทำให้เราอาจตกเป็นเหยื่อได้โดยไม่คาดคิด”
SafeInternetForKid.com
ถึงตรงนี้ ก็ต้องบอกว่า การจะเอาตัวรอดในโลกออนไลน์ ซึ่งหมายถึงการไม่ตกเป็นเหยื่อ การเท่าทัน และการมีมารยาทในการยู่ร่วมกันในสังคมออนไลน์นั้น เป็นเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อและการมีทักษะชีวิตที่ดี ซึ่งทักษะที่ว่านี้ต้องเรียนรู้และฝึกฝน คิด วิเคราะห์ และบางคำถามเราอาจไม่รู้มาก่อน เช่น ทำไมการ Tag เพื่อนใน Facebook ถึงผิดมารยาท? การปฏิเสธที่จะโต้ตอบกับคนที่เราไม่รู้จักมาก่อนทำอย่างไร? หรือทำไมบางคนต้องมีบัญชี Twitter มากกว่า 1 บัญชี
สำหรับประเทศไทยบริษัทเทเลนอร์ กรุ๊ป โดย DTAC สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และบริษัท อินสครู จำกัด ได้ทำเว็บไซต์ SafeInternetForKid.com ขึ้นมาเพื่อที่ครูและผู้ปกครองสามารถใช้สอนบุตรหลานให้เข้าใจการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยได้ดีกว่าเดิม ให้ผู้เรียนในแต่ละช่วงอายุได้ทบทวนในสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ที่มีทั้งโอกาสและภัยจากผู้ไม่หวังดี
SafeInternetForKid.com ได้รับการเผยแพร่ไปกว่า 13 ประเทศทั่วโลก นี่คือแหล่งเรียนรู้ สำหรับครอบครัวและโรงเรียน เพื่อสร้างทักษะให้เด็กและเยาวชนอายุตั้งแต่ 5-16 ปี ให้สามารถรู้เท่าทันและมีภูมิคุ้มกันบนโลกออนไลน์ได้ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ข้อ คือ 1. เด็กสามารถแยกแยะความเสี่ยงบนออนไลน์ได้ 2. เด็กรู้วิธีการขอความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม 3.เด็กสามารถใช้ประโยชน์และสร้างโอกาสจากการใช้อินเทอร์เน็ตได้ และ 4. เด็กสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม หากตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นเหยื่อในโลกออนไลน์
ใครๆ ก็สามารถผิดพลาดกันได้ โลกออนไลน์จึงเป็นสังคมที่เราต้องช่วยกันเฝ้าระวัง สร้างกติการ่วมกัน โดยที่เด็กและผู้ปกครองเองก็ต้องพูดคุยและแนะนำกันอย่างใกล้ชิดและเปิดเผย
แม้ว่าใครจะเรียนเก่ง เรียนดี มีความสามารถแต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเอาตัวรอดและไม่เคยผิดพลาดเลยในโลกออนไลน์