ปี 2019 ดำเนินมาจนเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว แต่บรรยากาศกลับร้อนระอุจากการประท้วงยืดเยื้อทั่วโลก ทั้งในเลบานอน, ชิลี, สเปน, เฮติ, อิรัก, ซูดาน, รัสเซีย, อียิปต์, อูกานดา, อินโดนีเซีย, ยูเครน, เปรู, ฮ่องกง, ซิมบับเว, โคลัมเบีย, ฝรั่งเศส, ตุรกี, เวเนซุเอลา, เนเธอร์แลนด์, เอธิโอเปีย, บราซิล, มาลาวี, อัลจีเรีย, เอกวาดอร์ และที่อื่นๆ
การประท้วงที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันราวกับเป็นเรื่องบังเอิญกำลังขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น แม้เหตุการณ์จะเกิดกันคนละสถานที่ แต่สิ่งที่การประท้วงเหล่านี้คล้ายกันคือ สาเหตุการประท้วง นั่นก็คือ เศรษฐกิจ การคอร์รัปชั่น เสรีภาพทางการเมือง และภาวะโลกร้อน ซึ่งสาเหตุเรื่องปัญหาปากท้อง และเศรษฐกิจได้จุดชนวนการประท้วงในเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการเมือง
ปัญหาปากท้องนำไปสู่การประท้วงของผู้บริโภค (Consumer Protest) ซึ่งเป็นการประท้วงที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และขยายวงกว้างมากขึ้น โดยการประท้วงสภาพเศรษฐกิจที่เห็นได้บ่อยคือ ประชาชนไม่พอใจกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น
ในเอกวาดอร์ ประเด็นประท้วงอยู่ที่ความต้องการให้รัฐบาลกลับมาอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง เช่นเดียวกันกับการประท้วงในเฮติ ส่วนในเลบานอน ประชาชนออกมาประท้วงกลางถนนเพราะไม่พอใจกับการเก็บภาษีการโทรศัพท์ผ่านแอปพลิเคชันสนทนาชื่อ วอทซ์แอป (Whatapp) จนกลายเป็นการประท้วงครั้งใหญ่สุดในเลบานอนในรอบหลายปี
ในอนาคตการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าไม่ว่าจะเป็นมาตรการรัดเข็มขัด หรือการเพิ่มราคาขึ้นจะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อความประสบความสำเร็จทางการเมือง ซึ่งการประท้วงของผู้บริโภคเกิดขึ้นได้ท่ามกลางผู้คนที่มีความคิดทางการเมืองที่หลากหลายแตกต่างกัน เพราะคนต่างก็ไม่พอใจกับราคาสินค้าที่สูงขึ้นไม่ว่าจะมีอุดมการณ์เช่นไร เช่นในชิลี ผู้ประท้วงไม่พอใจการขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าเมโทรจนนำไปสู่การประท้วงขับไล่ ประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิเญรา ขณะที่อิรัก การประท้วงปะทุขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาปัญหาปากท้อง การบริการขั้นพื้นฐาน และการว่างงาน รวมถึงปัญหาคอร์รัปชั่น จนนำไปสู่ข้อเรียกร้องการเปลี่ยนระบบการเมืองเสียใหม่
เศรษฐกิจ และปากท้องยังส่งผลต่อการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน การประท้วงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศออกมารับผิดชอบจะยากยิ่งขึ้น เพราะนโยบายการอุดหนุนเชื้อเพลิงนั้นเป็นที่นิยมในขณะที่ประชาชนก็ดูเหมือนไม่เต็มใจที่จะเสียสละทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศก็ยังไม่ใช่เรื่องสำคัญในประเทศที่ยากจน การประท้วงที่นำโดยเกรียตา ทุนแบร์ย กรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนวัย 16 ปี ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศร่ำรวย แต่การปล่อยคาร์บอนส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
ลองดูการต่อสู้แก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเนเธอร์แลนด์ที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ชาวนาหลายพันคนขับรถแทรกเตอร์มุ่งหน้าสู่กรุงเฮก เพื่อประท้วงคำพูดของสมาชิกรัฐสภาว่าภาคเกษตรกรรมมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยไนโตรเจนที่สูง และฟาร์มปศุสัตว์บางที่ควรถูกปิดตัวลง ทำให้ชาวนาออกมาโต้ตอบว่า อุตสาหกรรมการบินต่างหากเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการปล่อยมลพิษ
การประท้วงเรื่องสิทธิและเสรีภาพสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงยืดเยื้อในฮ่องกงตั้งแต่เดือนมิถุนายน ในประเด็นกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่มีเนื้อหาให้ผู้บริหารฮ่องกงส่งตัว “ผู้ต้องสงสัย” ที่ก่อคดี ให้เจ้าหน้าที่พิจารณาที่จีนแผ่นดินใหญ่ได้ จนกลายเป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตามประธานธิบดีสี จิ้นผิง ได้ตอกย้ำเรื่อง 1 ประเทศ 2 ระบบ ในการกล่าวสุนทรพจน์วาระครบรอบ 70 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงยังไม่เห็นสัญญาณคลี่คลายในฮ่องกง
ในอินโดนีเซีย เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เกิดเหตุประท้วงต่อต้านการออกกฎหมายอาญาฉบับใหม่ ว่าด้วยการควบคุมความสัมพันธ์นอกสมรส ห้ามมีเซ็กส์โดยไม่ได้แต่งงาน และสำหรับคู่รักที่อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงาน ต้องโทษจำคุกถึง 6 เดือน ผลจากการประท้วง รัฐสภาอินโดนีเซียเลื่อนการลงมติกฎหมายดังกล่าว
การแก้ไขความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทั่วมุมโลกนั้นต้องรอดูฝีมือของรัฐบาลประเทศต่างๆ แต่เบื้องหลังความบังเอิญที่เหตุการณ์ประท้วงเกิดขึ้นพร้อมกันก็คือภาพสะท้อนให้เห็นว่าระบบเดิมที่ควบคุมอำนาจในประเทศอย่างรูปแบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ รวมถึงโลกาภิวัฒน์ กำลังเผชิญความท้าทายจากความต้องการการเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมการเมือง และสภาพอากาศ
อ้างอิง
https://www.businessinsider.com/all-the-protests-around-the-world-right-now
เหตุการณ์ประท้วงเกิดขึ้นพร้อมกันก็คือภาพสะท้อนให้เห็นว่าระบบเดิมที่ควบคุมอำนาจในประเทศอย่างรูปแบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ รวมถึงโลกาภิวัฒน์ กำลังเผชิญความท้าทาย