ในเลบานอนมีการประท้วงของผู้คนหลายหมื่นคนมาตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา สื่อต่างประเทศหลายแห่งระบุว่าการประท้วงในครั้งนี้เป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีของเลบานอน และมีการประท้วงแพร่สะพัดไปทั่วหลายเมือง ทำให้นึกถึง ยุคสมัยอาหรับสปริงปี 2011 ที่มีการโค่นล้มผู้นำในตะวันออกกลางได้หลายคน
มีรัฐมนตรี 4 กระทรวงที่มาจากพรรคสายชาวคริสต์เลบานิสฟอร์ซประกาศลาออก ซึ่งปกติแล้วจะเป็นกลุ่มที่อยู่ฝ่ายเดียวกับนายกรัฐมนตรี ซาอัด ฮาริรี หัวหน้าพรรคเลบานิสฟอร์ซระบุว่าพวกเขาเชื่อว่ารัฐบาลของฮาริรีไม่สามารถดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ได้
ความไม่พอใจนี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ฮาริรี ผู้นำรัฐบาลแนวร่วมที่มีความไม่ลงรอยกันเสนอให้มีการปฏิรูปหลายด้าน เพื่อที่จะได้รัดเข็มขัดการคลังและสามารถรักษาการจัดสรรความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่จำเป็น ที่มาจากผู้บริจาคนานาชาติ
มาตรการเศรษฐกิจดังกล่าวคือการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ร้อยละ 2 ภายในปี 2021 และอีกร้อยละ 2 ในปี 2022 ซึ่งจะทำให้เลบานอนมี VAT เป็นร้อยละ 15 ซึ่งเรื่องนี้ทำให้มีการขึ้นราคาสินค้าหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิง ข้าวสาลี รวมถึงขึ้นราคาโทรศัพท์สื่อสารด้วยเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตหรือ VoIP ทั้งโปรแกรมเฟซไทม์ เฟซบุ๊ก หรือ WhatsApp
แม้ว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมารัฐบาลเลบานอนออกมาประกาศว่า จะให้มีการปฏิรูปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีการยอมยกเลิกการขึ้นภาษีแล้ว แต่ผู้ประท้วงก็ยังไม่เลิกชุมนุม และยกระดับข้อเรียกร้องเป็นการปฏิรูปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในหลายๆ ด้านมากกกว่านี้ ซึ่งรัฐบาลเลบานอนก็ประกาศว่าจะทำให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ลดเงินเดือนนักการเมือง และจัดการปัญหาขาดดุลของเลบานอน
เหตุผลพื้นฐานที่แฝงฝังอยู่ในการประท้วงครั้งนี้คือการที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องปากท้องอันเป็นเรื่องพื้นฐานของประชาชนได้เป็นเวลานานหลายทศวรรษ นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมืองในปี 1990 ที่ผ่านมามีการพูดถึงปัญหาสะสมที่ชาวเลบานอนต้องประสบในชีวิตประจำวัน ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่ผันผวน มันทำให้หลายคนเกิดอาการหมดคำพูดต่อข่าวคราวและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะมีการประท้วง มีตัวแทนที่อธิบายสถานการณ์ที่เป็นปัญหาสะสมในเลบานอนมานาน นั่นคือ มีม (Meme)
มีม คือ การหยิบยกประเด็นร้อนหรือเหตุการณ์ต่างๆ มานำเสนอด้วยวิธีสร้างสรรค์ ค่อนไปทางเสียดสี บางครั้งก็เปรียบเทียบสถานการณ์หนึ่งเข้ากับซีนจากภาพยนตร์ ละคร หรือสิ่งที่เข้าถึงง่าย ดูแล้วต้องเอะใจว่ากำลังพูดถึงภาพยนตร์หรือพาดพิงเหตุการณ์ไหนของสังคมกันแน่ หรือบางครั้งก็เปรียบเทียบบุคคลในสังคมเข้ากับตัวละครหรือใบหน้าที่แสดงสีหน้าท่าทางต่างๆ อย่างน่าจดจำ มีความเป็น Iconic
มีมเป็นศิลปะในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องอาศัยการตีความ ประสบการณ์ร่วมต่อประเด็นนั้นๆ ผ่านการนำเสนอย่างมีสีสัน และกลิ่นอายแบบ Irony คนในปัจจุบันนิยมใช้มีมผ่านการแชร์ ส่งต่อทางโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หลายครั้งมีมถูกใช้เพื่อล้อเลียนในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และหลายครั้งก็ใช้มีมพูดแทนใจเราในเรื่องที่อัดอั้น กระทั่งเรื่องที่อาจสุ่มเสี่ยงไปบ้าง เป็นการแสดงออกต่อการเมือง การเปลี่ยนแปลงของสังคม แบบแสบๆ ตามธรรมชาติของคนรุ่นใหม่ มีมสามารถบอกเล่าสถานการณ์ปัจจุบัน และความรู้สึกของผู้คนได้ในรูปภาพเดียว หรือข้อความเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
การสำรวจโซเชียลมีเดียพบว่า ที่ผ่านมามีซีรีส์มีมที่สร้างขึ้นมาอธิบายเหตุการณ์ในเลบานอนและสามารถทำให้คนในเลบานอนเองและตลอดจนคนนอกอย่างเราสามารถเข้าใจได้ปุ๊บเลยว่าหลักๆ เลยนั้นพวกเขาคับข้องใจเรื่องอะไรกันบ้าง
ไฟฟ้าและน้ำ
อธิบายผ่านมีมจากเรื่อง Lion King ผ่านบทสนทนาต่อไปนี้
“ดูสิ Simba ทุกอย่างที่แสงสัมผัสคือดินแดนของมนุษย์” เมื่อ Simba ถามถึงที่ที่มีเงา เขาบอกว่า “นั่นคือเลบานอน พวกเขาไม่มีไฟฟ้า ... อย่าไปที่นั่น Simba”
นอกจากนี้ยังมีมีมที่มีชื่อเสียงของสถาปนิกชาวเลบานอน และ Karl Sharro ได้สร้างภาพมีมขึ้นมาในปี 2012 ชื่อว่า “Lebanese Politics: The Board Game” มีข้อความหนึ่งเขียนว่า “เอากระทรวงไฟฟ้ามอบให้ลูกเขย” และข้อความอ้างถึง “Cut Water” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งการเตือนความทรงจำเกี่ยวกับความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาล
จริงๆ แล้ว แผนที่ประเทศของทางการเลบานอน แสดงว่า มีแม่น้ำเล็กๆ 12 สาย ลำธารมากกว่า 30 สาย มีน้ำพุและน้ำตกหลายพันแห่ง มีอ่างเก็บน้ำจากการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ กระนั้น เลบานอนก็ยังขาดแคลนน้ำอย่างเรื้อรัง จำเป็นต้องซื้อน้ำจากต่างประเทศมาใช้ ซึ่งมักเป็นปัญหาอยู่เสมอ
ผู้นำ การเมืองและสงคราม
ความรู้สึกหงุดหงิดที่มีต่อผู้นำของเลบานอนเสนอผ่านภาพมีมของ Sharro ซึ่งสร้างเมื่อปี 2014 มีใบหน้าของนายกรัฐมนตรี Saad Hariri คนปัจจุบันไปจนถึง Walid Jumblatt ประธานพรรคสังคมนิยมก้าวหน้า ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เข้าร่วมในสงครามการเมืองของประเทศตั้งแต่ปี 1975-1990และมีข้อความเขียนว่า “พวกเขาไม่ได้ทำอะไรเลย แต่พวกเขาจะอยู่ได้นานมาก” และยังมีแผนภูมิภาพของ Sharro ที่ต้องการเยาะว่ากลุ่มผู้นำไม่เคยเปลี่ยนไป เพียงแค่ปรับเปลี่ยนกองทัพของพวกเขาเท่านั้นเพื่อเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองเหมือนเดิม
ล่าสุดมีมีมที่ออกมาในระหว่างการประท้วง ประกาศว่าสงครามสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2019 ที่เป็นอย่างนั้นเพื่อจะบอกว่าเป็นการประท้วงที่อยู่เหนือเรื่องศาสนา ซึ่งคล้ายกับการประท้วงเมื่อเร็วๆ นี้ในอิรัก
มีมสามารถบรรยายความคับข้องใจของประชาชนไว้ในภาพเดียว ในกรณีของเลบานอนมันเผยให้เห็นการที่รัฐไม่สามารถตอบโจทย์โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอและดีพอสำหรับประชาชน ตลอดจนการประท้วงบนท้องถนนเพื่อต่อสู้กับรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม มิเพียงแต่มีมเหน็บแนมทางการเมืองของ Sharro เท่านั้นที่ใช้พูดแทนใจและทำให้บรรยากาศการเมืองเลบานอนไม่หดหู่จนเกินไป ทุกวันนี้เราพบว่า มีมเหน็บแนมทางการเมืองเป็นสิ่งประดิษฐ์ดิจิทัลที่ทำให้เราเห็นถึงความคับข้องใจของผู้คน จนนำมาสู่เหตุการณ์ปัจจุบัน และมันสามารถอธิบายความรู้สึกและเป็นตัวแทนของคนในแต่ละพื้นที่ได้
อ้างอิง:
trtword.com
มีม คือ การหยิบยกประเด็นร้อนหรือเหตุการณ์ต่างๆ มานำเสนอด้วยวิธีสร้างสรรค์ ค่อนไปทางเสียดสี บางครั้งก็เปรียบเทียบสถานการณ์หนึ่งเข้ากับซีนจากภาพยนตร์ ละคร หรือสิ่งที่เข้าถึงง่าย