การเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นญัตติเร่งด่วนเรื่องที่สอง ที่อยู่ในวาระการประชุมสภาสมัยสามัญครั้งที่สอง แต่ยังไม่ทันได้ลุ้นว่าส.ส.ในสภาจะตั้งคณะกรรมการหรือไม่ ก็มีการพูดถึงตำแหน่งประธานกรรมาธิการชุดนี้แล้ว โดยแบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือ
- ฝ่ายค้านแกนหลักเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
- ฝ่ายพลังประชารัฐผู้ที่ไม่เคยเสนอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
- และฝ่ายประชาธิปัตย์
ที่ล่าสุดมีมติเสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคเป็นประธานกรรมาธิการ (กมธ.)เสียเลย ซึ่งการกำหนดยุทธศาสตร์การเมืองตอนนี้ของแต่ละพรรคต้องไตร่ตรองให้ดีว่าแต่ละก้าวจะนำไปสู่เป้าหมายของพรรคในวาระดังกล่าวได้หรือไม่
ก่อนหน้านี้มีกระแสเสนอให้นายอภิสิทธิ์นั่งเก้าอี้ประธานกมธ. และมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยออกมาแสดงความคิดเห็น จนกระทั่งพลังประชารัฐเองส่งสัญญาณว่าต้องการเป็นประธานกรรมาธิการด้วย โดยจะส่งส.ส.ระดับแกนนำพรรคที่อาวุโส และมีประสบการณ์ทางการเมือง อาทิ นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ เป็นต้น
ซึ่งถ้าหากประธานกมธ.ชุดนี้เป็นของพรรคพลังประชารัฐ คนที่อยากเห็นการแก้รัฐธรรมนูญจะได้มีโอกาสเห็นหรือไม่
เพราะที่ผ่านมาพรรคพลังประชารัฐไม่เคยมีท่าทีว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา หรือเพราะกติกาฉบับนี้ได้เอื้อประโยชน์ให้พรรคแบบว่าร่างมาแล้วเพื่อพวกเรา รวมถึงถ้าไม่มีส.ว.จากการแต่งตั้งเป็นไม้ต่อรอง พรรคพลังประชารัฐก็คงไม่ได้มองว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้ว่าพรรคจะไม่เคยออกมาสนับสนุนเรื่องนี้ แต่ด้วยกติกาตามรัฐสภาทำให้พรรคออกหน้าว่าต้องการเป็นประธานกรรมาธิการชุดดังกล่าว
ในการแย่งเก้าอี้ประธานกมธ. ถ้าที่นั่งนี้ตกเป็นของนายอภิสิทธิ์ ก็จะกันไม่ให้พรรคที่ไม่อยากให้แก้รัฐธรรมนูญได้เก้าอี้ตัวนี้ ไป ซึ่งท่าทีของนายอภิสิทธิ์นั้นประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ที่ให้ส.ว.เลือกนายกฯได้ เมื่อตอนลงประชามติปี 2559
ขณะที่ประธานรัฐสภาจากพรรคเดียวกัน นายชวน หลีกภัย กล่าวบนเวทีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงาน วันธรรมศาสตร์สามัคคี ครั้งที่ 20 ว่าเป็นคนหนึ่งที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คำพูดของประธานรัฐสภาที่ซึ่งสงวนท่าทีเพื่อดำรงความเป็นกลางพูดแบบนี้เหมือนมีดกรีดใจกลางอกพลังประชารัฐ แต่สำหรับพรรคเพื่อไทย และอนาคตใหม่จะยอมมอบตำแหน่งนี้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังไม่สามารถเชื่อใจกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่
ยุทธศาสตร์นี้ ถ้าเสียงในสภาออกมาว่าฝ่ายค้านกับประชาธิปัตย์ร่วมมือกัน โอกาสที่นายอภิสิทธิ์จะเป็นประธานนั้นมีสูง แต่ถ้าทะเลาะกัน ฝั่งเพื่อไทย และอนาคตใหม่อยากเห็นคนของพรรคทำหน้าที่นี้มากกว่า ก็อาจได้เห็นคนที่ไม่เคยพูดถึงประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นประธานกรรมาธิการศึกษาหลักเกณฑ์ และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
นอกจากตำแหน่งประธานแล้ว โครงสร้างของกรรมาธิการก็สำคัญ เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยช่วยผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เดินหน้าไปมากน้อยแค่ไหน โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่มองว่า คณะรัฐมนตรีไม่ควรมีส่วนเสนอชื่อคนที่จะเข้ามาในกมธ.ชุดนี้ เพราะมีความแตกต่างจากคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 เพราะรัฐมนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณ แต่รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภา ซึ่งถ้าโครงสร้างเป็นโมเดลของนายปิยบุตรสัดส่วนกรรมาธิการระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลก็จะเท่าๆ กัน โอกาสที่ฝ่ายค้านจะขับเคลื่อนประเด็นก็จะง่ายขึ้น
เกมส์การเมืองการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร และดูเหมือนไม่ใช่เรื่องที่จบง่ายๆ เอาเป็นว่าใครที่อยากเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด่านแรกคือตั้งกรรมาธิการให้ได้ก่อน ด่านสองคือการแย่งเก้าอี้หัวหน้ากมธ. และสัดส่วนกรรมาธิการ เพื่อคุมการทิศทางการทำงาน ภายใต้สถานการณ์ที่ขั้วการเมืองเห็นต่างและไม่ไว้ใจกัน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
การแก้รัฐธรรมนูญ ใน ปัญหาปากท้อง ตัว (ประ) กัน แก้รัฐธรรมนูญ http://bottomlineis.co/Politics_Amend_the_Constitution
อ้างอิง
https://www.posttoday.com/politic/news/605486
https://www.thaipost.net/main/detail/49570
https://www.matichon.co.th/politics/news_1741275
https://www.khaosod.co.th/politics/news_3032625
https://www.thairath.co.th/content/674381
ยุทธศาสตร์นี้ ถ้าเสียงในสภาออกมาว่าฝ่ายค้านกับประชาธิปัตย์ร่วมมือกัน โอกาสที่นายอภิสิทธิ์จะเป็นประธานนั้นมีสูง แต่ถ้าทะเลาะกัน ฝั่งเพื่อไทย และอนาคตใหม่อยากเห็นคนของพรรคทำหน้าที่นี้มากกว่า