"นิรา มาแล้วค่ะ" ประโยคติดหูของคอละครปี 2019 จากละครดังเรื่องหนึ่งที่ออนแอร์ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำเอาคนไทยติดงอมแงมจนคุยได้ทั้งวันแบบไม่รู้เบื่อ ละครถือว่าเป็นแหล่งบันเทิงอันดับ 2 รองจากการไถหน้าจอโทรศัพท์เล่นโซเชียลมีเดียของคนไทย แต่ถ้าถามคนรุ่นพ่อ แม่ ตา ยาย ละครยังคงเป็นคำตอบอันดับ 1 ตลอดกาล
ถ้าให้นึกเล่นๆ ว่าประโยชน์ของละครคืออะไร? คนทั่วไปอาจจะตอบว่า ช่วยสร้างความบันเทิงให้คนดู กับสร้างรายได้ให้กับนักแสดงเท่านั้น แต่สำหรับวงการแพทย์และจิตบำบัด ละครกลับมีประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างคาดไม่ถึง ยกตัวอย่างเช่น กระบวนการ Drama Therapy หรือ ละครบำบัดเพื่อผู้ป่วย
เล่นจนได้เรื่อง
วิธีของ ละครบำบัด Drama Therapy คือ การให้ผู้บำบัดเล่นละครสมมุติ เป็นการบอกเล่าอารมณ์ เรื่องราว หรือระบายเพื่อสะท้อนสภาพจิตใจและเรื่องราวที่กระทบจิตใจที่เกิดขึ้นกับคนๆ นั้น
ละครบำบัดทำให้เราได้เห็นตัวตนในมุมมองที่แตกต่าง ได้สำรวจ เรียนรู้การแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึกหลากหลาย ที่มีส่วนช่วยให้เราเข้าใจกับเรื่องราวหรือปัญหาต่างๆ ได้ง่ายขึ้น รวมถึงได้ค้นพบศักยภาพและความสร้างสรรค์ที่มีอยู่แล้วในตัวของแต่ละคน
โดยละครบำบัดสามารถทำได้ทั้งแบบเดี่ยวและกลุ่ม เทคนิคที่ใช้ในกระบวนการละครบำบัดแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับวัย และความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย โดยตัวอย่างของกระบวนการทำ ละครบำบัด ได้แก่
- การเล่นสด แสดงสด (Improvisation Play) เป็นการด้นสด เพื่อให้เกิดความเข้าใจกับบุคลิกลักษณะต่างๆ ที่ไม่ถูกปรุงแต่งของตัวเอง ซึ่งถือเป็นการเข้าถึงตัวตนในอีกทางหนึ่ง
- การเล่นสวมบทบาทต่างๆ (Role-play) เน้นใช้บทบาทที่กำหนดเองหรือถูกกำหนดให้โดยผู้อื่น เพื่อเปิดโอกาสให้ได้เห็นมุมมองใหม่ๆ เกิดความเข้าใจในเรื่องราวหรือเกิดการเผชิญหน้าปัญหาต่างๆ ที่ผู้รับการบำบัดยังไม่คุ้นเคย หรือพยายามหลีกเลี่ยงที่จะแก้ไข
หากย้อนกลับไปถึงประวัติของละครบำบัดนั้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ละคร ถูกนำมาใช้เพื่อการเยียวยารักษามานานแล้ว โดยอยู่ในสังคมแถบยุโรปและฝั่งตะวันออก แต่ก็ยังเป็นแค่ความคิดลอยๆ ไม่นับเป็นกระบวนการทางการแพทย์หรือความรู้ชุดหนึ่ง แต่หลังจากอุตสาหกรรมหนังเติบโตขึ้นจาก Hollywood ในสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 1920 หรือ พ.ศ. 2463 ทำให้ชาวอเมริกันได้เอาวัฒนธรรมการบำบัดด้วยละครมาพัฒนาความรู้สู่กระบวนทางวิทยาศาสตร์เพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับศาสตร์ละครบำบัด Drama Therapy ด้วย
จากหน้าม่านสู่การบำบัด
จริงๆ แล้ว ก่อนที่จะมาเป็นละครบำบัดนั้น มีการก่อเกิด ละครจิตบำบัด หรือ Psychodram ขึ้นมาก่อน โดยเริ่มมาจากการทดลองศึกษาเรื่องละครบำบัดในโรงละคร โดยละครจิตบำบัดจะเป็นศาสตร์ที่ใช้กระบวนการเล่นละครให้ผู้บำบัดเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้งมากขึ้น
ต่อมาในช่วงปี ค.ศ.1960 ขณะที่ละครจิตบำบัดค่อยๆ พัฒนา โครงสร้างชัดเจนขึ้น ละครบำบัดจึงถูกค้นพบในระหว่างกระบวนการพัฒนา โดยการแสดงสด (Improvisation) และการแสดงละครอย่างเป็นธรรมชาติ (Spontaneous Theatre) มีการให้ความสนใจในประเด็นศิลปะการละครและอิทธิพลอื่นๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ละครบำบัดจึงเน้นศิลปะเป็นตัวหลัก ที่ทำให้ผู้รับการบำบัดได้ปลดปล่อยหรือแสดงอารมณ์และความคิดเพื่อแก้ไขปัญหาของตนเอง
ว่ากันง่ายๆ ความต่างของ ละครจิตบำบัด Psychodram และ ละครบำบัด Drama Therapy คือ
- ละครจิตบำบัด Psychodram ผู้บำบัดเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ่ง
- ละครบำบัด Drama Therapy ผู้รับการบำบัดได้ปลดปล่อยหรือแสดงอารมณ์และความคิดเพื่อแก้ไขปัญหาของตนเอง
ละครบำบัด เครื่องมือเพื่อการเข้าใจตัวเอง
สำหรับประเทศไทย ละครบำบัดถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายสำหรับผู้ป่วยทางจิตเวชในโรงพยาบาล ผู้ต้องขัง และนักเรียน รวมถึงในมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ในกรณีที่เกิดการทารุณกรรมทางด้านร่างกายและจิตใจ
"ละครบำบัดช่วยให้เด็กเกิดความเข้าใจและยอมรับตัวเอง เกิดการยกย่อง นับถือตัวเอง เกิดความมั่นใจ และเห็นคุณค่าในตัวเอง อีกทั้งยังก่อให้เกิดความสุข ได้ผ่อนคลาย เกิดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ได้รับการกระตุ้นทางความคิดและการเรียนรู้ทักษะในการรับมือกับปัญหาต่างๆ หรือความเปลี่ยนแปลงในชีวิต
สิ่งที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้ในละครบำบัดนั้น เปรียบเสมือนการเรียนรู้จิตวิทยาในการเข้าใจตัวเองเพื่อให้เด็กสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ได้เรียนรู้บรรยากาศที่อบอุ่นและเกื้อหนุนกัน ถ้าเป็นละครบำบัดที่เป็นกระบวนการกลุ่ม กลุ่มจะเป็นเหมือนตัวแทนของสังคมเล็กๆ ให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการได้เห็นและเข้าใจวิถีกลุ่ม โดยมีผู้นำกิจกรรมละครบำบัดเป็นผู้ที่คอยเสนอแนะ ตั้งข้อสังเกต และชี้ทางหรือกำหนดทิศทางของกระบวนการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น" เจ้าหน้าที่มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าว
นอกจากสร้างความบันเทิงแล้ว ละครบำบัดอาจเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาผู้ที่มีความบกพร่องบางประการ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เช่น ความบกพร่องด้านพัฒนาการ ความผิดปกติทางจิตใจ ความผิดปกติทางการสื่อสารและอารมณ์ และความผิดปกติในการความคุมความประพฤติ ตลอดจนเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ช้าอีกด้วย
ในประเทศไทย ละครบำบัด ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายสำหรับผู้ป่วยทางจิตเวช ผู้ต้องขัง และนักเรียน รวมถึงศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ในกรณีที่เกิดการทารุณกรรมทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อช่วยให้คนที่ได้รับการบำบัดเกิดความเข้าใจ ยอมรับ ยกย่องนับถือตัวเอง เกิดความมั่นใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง