เมื่อพูดถึงผีในเรื่องเล่า ตำนาน และนิทานที่อยู่คู่กับสังคมไทย โดยเฉพาะผีที่มีความผูกพันกับวัฒนธรรมทางภาคใต้ คงจะหนีไม่พ้น ผีเปรต ที่มักจะมาพร้อมกับประเพณี ชิงเปรต ในงานบุญวันสารทเดือนสิบที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ทุกๆ ปี ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ตามปฏิทินทางจันทรคติ
ก่อนที่จะเล่าให้ฟังว่าการ ชิงเปรต คืออะไร ขอพาย้อนไปดูความเชื่อเกี่ยวกับ ผีเปรต ในศาสนาต่างๆ รวมถึงผีเปรตในศาสนาพุทธ และความหมายที่แท้จริงตามพระไตรปิฎกกันสักหน่อย
- เปรต ไม่ได้มีแค่ในศาสนาพุทธ
คำว่า เปรต หมายถึง ผี ตามความเชื่อในภาพกว้างๆ ในหลากหลายศาสนา เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู ศาสนาซิกข์ และศาสนาเชน แต่หากมองเฉพาะในความเชื่อของศาสนาพุทธ คำว่าเปรตจะหมายถึง ผู้ล่วงลับ และในอีกนัยหนึ่งหมายถึง อมนุษย์พวกหนึ่งที่เกิดในเปตวิสัยซึ่งเป็น 1 ใน 4 อบายภูมิ โดยเปรตมีหลายประเภท และสามารถจำแนกได้หลากหลายชั้น ในทางพุทธศาสนาหากแบ่งตามชั้น "เปตวัตถุอรรถกถา" สามารถแบ่งเปรตออกเป็น 4 ประเภท คือ
- ปรทัตตุปชีวิกเปรต: เปรตที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยส่วนบุญที่มีผู้ทำอุทิศให้ เช่น การเซ่นไหว้ เป็นต้น หากไม่มีส่วนบุญที่มีผู้อุทิศให้ก็มักจะกินเลือดและหนองของตัวเองเป็นอาหาร
- ขุปปีปาสิกเปรต: เปรตที่อดอยาก ทุกข์จากความหิวโหยอยู่เป็นนิจ
- นิชฌามตัณหิกเปรต: เปรตที่ถูกไฟเผาให้เร่าร้อนอยู่เสมอ
- กาลกัญจิกเปรต: เปรตในจำพวกอสุรกาย
- ผีเปรต มีบันทึกในพระไตรปิฎก
มีหลักฐานระบุเกี่ยวกับเปรตปรากฏอยู่ในพุทธพจน์ที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก จากทั้งหมด 45 เล่ม พบว่าในพระไตรปิฎกเล่มที่ 16 (สังยุตตนิกาย นิทานวรรค) ได้บันทึกเรื่องราวบุพกรรมของเปรตไว้ 21 เรื่อง และในพระไตรปิฎกเล่มที่ 26 (ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา) ได้บันทึกเรื่องราวบุพกรรมของเปรตต่างๆ เอาไว้อีกมากถึง 51 เรื่อง นอกจากนี้ยังพบการบันทึกเกี่ยวกับเปรตงูและเปรตกาใน พระไตรปิฎกเล่มที่ 25 อีกด้วย
- ความเชื่อเรื่อง เปรต ในสังคมไทย
เปรตตามความเชื่อไทย เป็นผีที่มีรูปร่างสูงเท่าต้นตาล ผมยาว คอยาว ผอมโซ ผิวดำ ท้องโต มือเท่าใบตาล แต่มีปากเท่ารูเข็ม และเปรตจะหิวอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากกินอะไรไม่ได้ จึงชอบมาขอส่วนบุญในงานบุญต่างๆ ซึ่งเมื่อสะสมบุญได้แล้วเกิดใหม่ชาติหน้าจะได้ไม่ต้องทุกข์ทรมานอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งจากลักษณะนี้ทำให้คำว่า เปรต กลายมาเป็นคำด่าในภาษาไทยที่หมายถึง คนที่อดอยากผอมโซ เที่ยวรบกวนขอเขากิน หรือเมื่อมีใครได้โชคลาภก็เข้ามาขอแบ่งปัน คนไทยโบราณมีความเชื่อที่ว่าถ้าใครทำร้ายพ่อแม่ชาติหน้าจะไปเกิดเป็น ผีเปรต เป็นต้น
- ชิงเปรตคืออะไร? ทำไมต้องชิงของกินมา?
ชิงเปรต เป็นประเพณีของผู้คนในภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราช ที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อมาจากศาสนาพราหมณ์ และมีการผสมผสานความเชื่อทางศาสนาพุทธเข้าไปในภายหลัง มักทำกันใน วันบุญสารทเดือนสิบ (ตรงกับช่วงปลายเดือนกันยายน) เป็นประเพณีที่จัดยาวนาน 15 วัน มีจุดมุ่งหมายเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ พวกเขาจะได้รับการปล่อยตัวมาจากภูมินรกที่ถูกจองจำอยู่เนื่องจากผลกรรมที่ได้เคยก่อไว้ตอนที่ยังมีชีวิต โดยเริ่มปล่อยตัวจากภูมินรกในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เพื่อมายังโลกมนุษย์ มาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังภูมินรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 หรือที่เรียกกันว่า "วันสารทใหญ่"
สำหรับการ ชิงเปรต เริ่มจากประชาชนจะเตรียมของทำบุญ ได้แก่ อาหารคาว หวาน และขนมที่ทำขึ้นมาเฉพาะในช่วงบุญสารทเดือนสิบ 5 หรือ 6 อย่าง เช่น ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพ สำหรับผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ, ขนมลา แทนเครื่องนุ่งห่มแพรพรรณ, ขนมกงหรือขนมไข่ปลา แทนเครื่องประดับ, ขนมดีซำ แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย, ขนมบ้า แทนสะบ้าใช้เล่น และขนมลาลอยมัน รวมถึงอาหารอื่นๆ ที่บรรพชนชื่นชอบ
จากนั้นก็จะนำสำรับเหล่านั้นมาร่วมกันถวายภัตตาหารแก่ภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วจะร่วมกัน "ตั้งเปรต" เพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในอดีตมักตั้งเปรตบริเวณโคนต้นไม้หรือบริเวณกำแพงวัด แต่ปัจจุบันนิยมตั้งบน "ร้านเปรต" (นั่งร้านขนาดใหญ่และสูงหลายเมตร)
เมื่อตั้งเปรตเสร็จพระสงฆ์จะสวดบังสุกุล โดยจับสายสิญจน์ที่ผูกไว้กับหลาเปรต เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้นก็จะมีการตัดสายสิญจน์ แล้วผู้คนที่มาร่วมงานบุญที่วัดก็จะร่วมกัน "ชิงเปรต" โดยการแย่งชิงอาหารบนร้านเปรต ทั้งนี้นอกจากเพื่อความสนุกสนานแล้วยังมีความเชื่อว่า หากใครได้กินอาหารบนหลาเปรตจะได้รับกุศลแรง เป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ซึ่งได้ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษและถือปฏิบัติเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนยืนยันว่า การชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงเปรตแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการได้บุญ เพราะเชื่อกันว่าหากลูกหลานของเปรตใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนบุญส่วนกุศลนั้นไปด้วย
นอกจากนี้เด็กๆ ที่มาร่วมงานประเพณีชิงเปรตก็จะมีการแต่งกายแฟนซรเลียนแบบ ผีเปรตในจินตนาการ สวมหน้ากาก แต่งหน้า ทาตัวด้วยสีต่างๆ ถือเป็นอีกหนึ่งสีสันของงานชิงเปรตที่หลายคนอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อน จะว่าไปแล้วก็อาจจะมีส่วนคล้ายกับวันฮาโลวีนของฝรั่งเหมือนกันนะเนี่ย!
----------------------------------
อ้างอิง:
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/848997
https://www.faiththaistory.com/jinn-th/
https://th.wikipedia.org/wiki/เปรต
ประเพณีการชิงเปรต จะทำกันในวันสารทเดือนสิบของทุกๆ ปี ผู้คนทางภาคใต้ของไทยจะนำเครื่องเซ่นไหว้ไปตั้งไว้บน ร้านเปรต (นั่งร้านที่สูงหลายเมตร) เพื่อให้เปรตภูตได้มากินเครื่องเซ่นไหว้ ภายหลังจากที่พระสงฆ์ได้ประกอบพิธีสวดอุทิศบุญและพุทธศาสนิกชนได้กรวดน้ำส่งส่วนบุญส่วนกุศลไปให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ หลังจากนั้นจะทำการตัดสายสิญจน์ เพื่อให้เปรตภูติได้ทำการกินอาหารจากเครื่องเซ่นไหว้