เราเวียนเทียนกันทำไม?...หนึ่งในคำถามยอดนิยมประจำวันสำคัญทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะในกลุ่มหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ที่อาจจะไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องจำเป็นในชีวิต แต่...เดี๋ยวก่อน ถ้ารู้เหตุผลของการเวียนเทียนจริงๆ คุณอาจจะเปลี่ยนใจอยากไปลองทำบ้างก็ได้
Bottom Line จะชวนคุณมาดู 3 เหตุผลว่าทำไมชาวพุทธถึงต้องไป "เวียนเทียน" ในวันสำคัญทางศาสนา
ก่อนอื่น...มาทำความรู้จักการเวียนเทียนกันสักหน่อยว่ามันคืออะไร?
ในทางพุทธศาสนา คำว่า “เวียนเทียน” ใช้กับการเดินเวียนรอบบุคคล สิ่ง หรือสถานที่เคารพบูชา อาจใช้คำอื่นก็ได้ว่า ประทักษิณ, ทักขิณาวัฏฏ์ หรือ ทักษิณาวัฏ อ้างอิงจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) แปลว่า “เบื้องขวา” หรือ “การเวียนขวา”
การเวียนเทียนหรือการทำประทักษิณต่อบุคคล สิ่งหรือสถานที่ใดๆ นั้น ทำไปเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเคารพต่อบุคคล สิ่งหรือสถานที่นั้นๆ อย่างสูงสุด ซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาลแล้ว เช่น เมื่อครั้งพระสารีบุตรท่านไปทูลลาพระพุทธเจ้า เพื่อจะกลับไปนิพพานที่แคว้นมคธ พระสารีบุตรท่านก็ได้กระทำประทักษิณ 3 รอบต่อพระพุทธเจ้า
ขณะที่การเวียนซ้าย หรือ อุตราวรรต นิยมใช้ในงานอวมงคล เช่น งานศพ
ไทยได้รับคตินี้มาจาก "อินเดีย" พร้อมกับพระพุทธศาสนา ซึ่งย้อนกลับไปราวๆ สมัยทวารวดี ซึ่งปรากฏข้อความในพงศาวดารว่า...มีการกระทำพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนาสืบมาจนถึงปัจจุบัน
อ่านเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- 5 วัดที่คุณต้อง "เวียนเทียน" วันอาสาฬหบูชา ไปง่ายใกล้ BTS
- รู้ก่อนชัวร์กว่า! 7 ขั้นตอน "เวียนเทียน" วันอาสาฬหบูชา 2562
และนี่คือ 3 เหตุผลว่าทำไมเราต้องไป "เวียนเทียน"
1. บูชาไฟ ให้ชีวิตสว่างรุ่งโรจน์
ไฟที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแสดงความศรัทธานั้น เป็นเหมือนตัวแทนของความเชื่อที่ตกทอดมาแต่โบราณตั้งแต่อินเดียถึงเอเชียตะวันออก ที่เปรียบไฟกับความสุกสว่างของชีวิต ไทยเองตั้งแต่อดีตมีการบันทึกว่า ใช้ไฟในพิธีเสี่ยงเทียนทำนายก่อนที่จะออกศึก การเผาเทียนเล่นไฟ การปล่อยโคมลอย พิธีกรรมทางศาสนา ใช้เผาศพ รวมถึงใช้ในการจุดธูปเทียนสำหรับการเวียนเทียนด้วย
2. ระลึกถึงวัฏสงสาร
การเวียนเทียนนอกจากจะหมายถึงการเคารพบูชาต่อปูชนียบุคคลหรือปูชนียสถานที่สำคัญในทางพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นเหมือนกุศโลบายสั่งสอนให้พุทธศาสนิกชนตระหนักถึง "วัฏสงสาร" หรือการเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เหมือนกับการเดินเวียนเทียนเป็นวงล้อที่จะต้องวนกลับมาที่เดิม
3. ได้อานิสงส์แรง
ว่ากันว่าการเวียนเทียนจะช่วยส่งอานิสงส์ผลบุญให้แก่ผู้ที่ปฏิบัติ ในทางตรงคือ ผู้ปฏิบัติจะมีกายที่สำรวมขึ้น มีใจิตใจที่สะอาด สงบ สร้างสมาธิระหว่างที่เดินเวียนเทียน ส่วนผลในทางอ้อมและตามความเชื่อคือ จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้บุญหนัก หลุดพ้นจากภูมิเปรต เดรัจฉาน อีกทั้งบันดาลให้จิตพ้นอบายภูมิได้
เรียบเรียง : Bottom Lline
ภาพ : Nation photo, Shutterstock
การเวียนเทียนเป็นเครื่องหมายที่ใช้แสดงถึงความเคารพต่อบุคคล สิ่งของ หรือสถานที่นั้นๆ อย่างสูงสุด จากหลักฐานพบว่ามีมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาล