ปัจจัยสำคัญของการลดจำนวนประชากรนกเงือกคือการขาดแคลนโพรงรัง
นกเงือกจะต้องทำรังในต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีโพรงรังที่พอเหมาะ ขนาดของปากโพรงประมาณ 12×18 เซ็นติเมตร พื้นโพรงไม่ต่ำกว่า 1 ฝ่ามือสำหรับให้แม่ และลูกนกได้ขับถ่ายออกมาด้านนอก และรับอาหารจากพ่อนก เพดานโพรงต้องไม่ต่ำกว่า 1 เมตรสำหรับการถ่ายเทอากาศ และใช้เพื่อหลบหลีกศัตรู
ต้นไม้ที่เกิดโพรง และมีขนาดใหญ่เช่นไม้ในวงศ์ยาง อาทิ ต้นตะเคียนชันตาแมว สยา กาลอ และวงศ์หว้า หรือ วงศ์ถั่ว ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ และเป็นที่ต้องการของตลาดทำให้ต้นไม้เหล่านี้ต้องแย่งชิงกันระหว่างคนกับนก และคงไม่ต้องบอกว่าใครคือผู้ชนะ
ต้นไม้ใหญ่ใช่จะมีโพรงทุกต้นเสมอไป การเกิดโพรงมีกระบวนการที่ซับซ้อน เช่น เกิดจากนกหัวขวานขนาดใหญ่เจาะทิ้งไว้ หรืออาจเกิดจากการปลิดกิ่งของต้นไม้ และเชื้อราเข้าทำปฏิกิริยาจนเป็นโรคใส้เน่า บางครั้งเกิดจากการเปิดปากโพรงของหมีที่ปีนขึ้นไปกินน้ำผึ้งโพรง
แม้ว่า ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีโพรงรังนั้นจะมีอย่างจำกัด และไม่เพียงพอต่อความต้องการของนกเงือก โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ร่วมมือกับโครงการจัดสร้างโพรงเทียมสำหรับนกเงือก มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยอาจารย์ชาคร ผาสุวรรณ ซึ่งใช้วัสดุจากไฟเบอร์กลาส แยกเป็นชิ้นๆ เพื่อให้ง่ายต่อการแบกขึ้นภูเขา
หลังจากติดตั้งโพรงเทียมปรากฏว่ามีนกเงือกมาใช้บริการ แต่พบเฉพาะนกกกเท่านั้นที่เข้าโพรง และประสบความสำเร็จ และต่อมาได้เป็นต้นแบบการติดตั้งโพรงเทียมสำหรับนกเงือกในหลายๆแห่งทั้งในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามการรักษาต้นไม้ขนาดใหญ่และถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมัน คือ สิ่งสำคัญสำหรับการอนุรักษ์นกเงือกให้อยู่ได้ยั่งยืน
ส่วนโพรงเทียมนั้นเป็นเพียงทางเลือกสุดท้ายเมื่อถึงเวลาที่จนตรอกเท่านั้นเพราะการขยายพันธุ์ในธรรมชาตินั้นดีที่สุดที่จะทำให้พฤติกรรมต่างๆของสัตว์ป่าดำเนินต่อไปอย่างเป็นปกติ
การรักษาต้นไม้ขนาดใหญ่และถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมัน คือ สิ่งสำคัญสำหรับการอนุรักษ์นกเงือกให้อยู่ได้ยั่งยืน