ในระหว่างที่คำว่า Disruption คือคำพูดยอดฮิตที่ใครๆก็ต่างพูดถึง จนทำให้แต่ละองค์กรต้องปรับตัว หากลยุทธ์เข้ามาใช้ในกระบวนการทางธุรกิจ หากเวลาเดียวกันนี้ ลึกเข้าไปในหัวใจของคนทำงาน-มนุษย์เงินเดือน พวกเขาเองก็ประสบกับความเครียดเฉพาะตัว ทั้งความกังวล ความไม่แน่ใจ และอีก ฯลฯ จากการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง
ท่ามกลางวิธีจัดการความรู้สึกที่เป็นลบในหลากหลายวิธี Relationflip คือหนึ่งในทางเลือกนั้น พวกเขาคือแพลตฟอร์มที่อาสาเป็นสื่อกลางให้ผู้รักษาและนักจิตวิทยาซึ่งมีในเครือข่ายกว่า 80 คน ได้พบกันผ่านการพูดคุยแบบออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งนั่นก็ช่วยให้คนทำงานในยุค Disruption ลดความวิตกกังวล ได้บ้าง
ถึงเช่นนั้น Relationflip ไม่ใช่ SE (Social Enterprise) น้องใหม่ หากแต่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 2-3 ปีก่อน จากนักออกแบบที่เห็นช่องว่างของปัญหา และพัฒนา Web Application นี้ขึ้นมาจนทำให้พวกเขาเป็นหนึ่งใน Social Enterprise หรือธุรกิจเพื่อสังคมที่เข้าโครงการ SET Social Impact ที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“เรามีธุรกิจเพื่อสังคมที่ช่วยเหลือคนในชุมชนชนบทมากมายแล้ว ทำไมจะมีเพื่อคนเมืองบ้างไม่ได้ แม้ชีวิตในกรุงจะมีเงินทองและความสะดวกสบายมากกว่าคนต่างจังหวัด ก็ไม่ได้แปลว่าจะมีความสุขกว่า คนเมืองก็อาจต้องการความช่วยเหลือไม่ต่างกัน และถ้าเราป่วย เราก็มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลไว้ดูแลพนักงานแต่ในทางกลับกัน พนักงานในองค์กรมีความเครียด ความกดดัน Relationflip จึงเป็นแพลตฟอร์มด้านจิตวิทยาส่วนบุคคล ให้กับคนทำงาน” วินัดดา จ่าพา ผู้ก่อตั้ง Relationflip บอก
วินัดดา จ่าพา Founder Relationflip
เป้าหมายของ Relationflip คือการให้สมาชิกขององค์กรมีทัศนคติที่ดี มีความสุขในการใช้ชีวิต ซึ่งเมื่อพนักงานเหล่านั้นมีความสุขแล้ว พวกเขาก็จะเป็นพนักงานที่มีคุณภาพของบริษัทด้วย
แล้วอะไรล่ะ คือปัญหายอดฮิตของพนักงานในองค์กรเหล่านั้น ?
วินัดดา บอกว่า ในยุคที่แต่ละบริษัทต้องพบกับคำว่า Disruption ปัญหาที่พบบ่อยคือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กร โดยเฉพาะที่เกิดจากช่องว่างระหว่างวัย (Generation gap) อาทิ พนักงานที่เป็นเจเนอเรชั่น Y หรือกลุ่มคนมิลเลนเนียม มักมองว่าเจ้านายหรือผู้สูงอายุกว่าในองค์กรไม่เข้าใจตัวเอง มีระบบ ระเบียบที่มากเกินไป เกิดความรู้สึกว่าวัฒนธรรมขององค์กรปิดกั้นความสามารถของตัวเอง
“ขณะที่พนักงานที่เป็นผู้สูงอายุ จะเกิดความวิตกกังวล กลัวตัวเองว่าจะไม่ดีพอสำหรับการทำงานในยุคใหม่ บางคนถึงขนาดหมด Passion ในการทำงาน เพราะคิดว่า อีกไม่กี่ปีก็จะเกษียณแล้ว ทำงานแล้วก็ไม่ก้าวหน้าอยู่ดี แต่ก็ไม่สามารถหาทางออกได้ เพราะต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ มีค่าใช้จ่ายให้ต้องทนอยู่ต่อไป กลายเป็น Dead wood ที่ทำงานอย่างไร้ประสิทธิภาพ”
นักจิตวิทยาของ Relationflip จะค่อยๆชวนคุย และตั้งชุดคำถามเพื่อชวนคิดไปถึงต้นตอของปัญหา หาสาเหตุที่แท้จริงของความเครียด เพื่อให้เจ้าของเรื่องราวได้คิดและหาทางออกที่ตรงกับปัญหามากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าแม้จะอยู่ในองค์กรเดียวกัน แต่หลากหลายคนก็มีคำตอบที่แตกต่างกันออกไป
มากกว่านั้น Relationflip ยังประมวลและวิเคราะห์ Inside ของพนักงานเหล่านั้น ส่งกลับไปให้องค์กร ต่อยอดไปในลักษณะที่ปรึกษาทางธุรกิจ (Business Consultants) เพื่อหารูปแบบการทำงานที่สร้างความพึงพอใจและเป็นไปได้ทางธุรกิจ ให้องค์กรได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ให้องค์กรกะทัดรัดขึ้น สร้างจุดร่วมระหว่างพนักงานในแต่ละเจน
ลูกค้าส่วนใหญ่ของ Relationflip จึงเป็นแบบ B2B (Business-to-Business) โดยเฉพาะกับธุรกิจที่เกิดความเปลี่ยนแปลงสูง ถูก Disruption ทางเทคโนโลยี ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค จนทำให้ทั้งองค์กรและพนักงานเกิดความเครียด ในขณะที่ต้องหาทางอยู่รอดให้ได้
“คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเครียดแล้วไปหาอะไรทำ ไปดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งมันก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาที่สร้างความเครียดจริงๆมันไม่ได้ถูกแก้ไข บริการของเราคือการสืบค้นหาต้นตอปัญหานั้น แล้วชี้ให้ผู้รับบริการเห็นว่าอะไรเป็นปัญหา เช่น บางกรณีปัญหาของพวกเขาไมได้อยู่ที่บริษัทแต่อยู่ที่ปัญหาเศรษฐกิจ เงินไม่พอใช้ ก็ต้องมาสืบต่อว่า เขาเงินไม่พอใช้เพราะอะไร เพราะค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ เพราะสิ้นเปลือง และพวกเขาต้องทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหานั้น”
ทั้งหมดคือการให้บริการเชิงป้องกัน เพื่อให้ Win-Win ทั้งองค์กรและพนักงาน เป็นแพลตฟอร์มเพื่อตอบสนองความต้องการในยุคที่อะไรก็ถูก Disruption ได้
เรื่อง: อรรถภูมิ อองกุลนะ
ภาพ : Relationflip, Shutter stock
กราฟฟิค: Bottom Line
บริการของ Relationflip คือการมีนักจิตวิทยาร่วมพูดคุยและหาสาเหตุความเครียดเพื่อกำจัดถึงต้นตอ