หลังจากมีข่าวลือหนาหูในโซเชียลมีเดียว่าธนาคารแห่งหนึ่งทาบทามวงไอดอลสาว BLACKPINK มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา
แต่นั่นไม่ใช่ข่าวลือ! เมื่อกสิกรไทยเผยข้อมูลประกาศอัตราค่าบริการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเงินฝาก เงินให้สินเชื่อ และค่าบริการอื่นๆ ออกมาในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562
โดยปรากฏข้อมูลในส่วนบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็ม กลุ่มบัตรเดบิตแบบชิปการ์ด (Contactless) ระบุประเภท “บัตรเดบิต BLACKPINK กสิกรไทย” พร้อมระบุอัตราค่าบริการแรกเข้าหรือออกบัตรใหม่อยู่ที่ 750 บาทส่วนค่ารายปี ปีแรก 0 บาท รายปีถัดไปอยู่ที่ 350 บาท โดยจะเริ่มให้บริการในวันที่ 21 พ.ย. 62 นี้
ล่าสุด นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ได้ออกมาเปิดเผยถึงเป้าหมายของการออกบัตรเดบิตในครั้งนี้ว่า ธนาคารต้องการเจาะกลุ่มนิวเจน (New Generation) ซึ่งเป็นกลุ่มที่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี เติบโตมาในโลกที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผันเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy) เป็นกลุ่มพลังที่ธนาคารกสิกรไทยมองเห็นศักยภาพการเติบโตที่จะเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญของธนาคารในอนาคต
และต้องการมีส่วนร่วมในการผลักดันให้กลุ่มนิวเจนเหล่านี้ได้มีโอกาสเติมเต็มความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในชีวิตยุคดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ โดยใช้คอนเซป #แค่เชื่อก็เป็นได้ (KBankEmpowers Your Belief) พร้อมดึง BLACKPINK มาเล่าเรื่องผ่านความเชื่อ และเรื่องราวของสมาชิกแต่ละคนที่มุ่งมั่น และลงมือทำความฝันของตนเองให้เป็นจริง ได้แก่
เจนนี่ (Jennie): BeyondYourself ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย
โรเซ่ (Rose): NeverStopอย่าหยุดที่จะเรียนรู้และฝึกฝน อย่ายอมให้อะไรมาหยุดความสำเร็จ
ลิซ่า (Lisa): KeepWinningเอาชนะทุกบททดสอบด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเท
จีซู (Jisoo): BeattheImpossibleสนุกกับความท้าทายใหม่ ๆ และทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นจริง
การร่วมมือกันในครั้งนี้ นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเมื่อ โลกของแบงก์กิ้งทุ่มทุนดึงวงสาวๆ BLACKPINK มาเป็นพรีเซ็นเตอร์โดยไม่ได้ชูแค่ “ลิซ่า-ลาลิษา มโนบาล” ที่มีเชื้อชาติไทยเพียงคนเดียวเหมือนที่หลายๆ แบรนด์เคยทำ แต่เชิญมาเป็นพรีเซนเตอร์ทั้งวง สะท้อนถึงพลังความฮอตสไตล์ K-POP ในไทยที่ดูเหมือนจะไม่จบลงง่ายๆ และต้องติดตามกันต่อไปว่า โฉมหน้าของบัตรเดบิต BLACKPINK กสิกรไทย จะมีลูกเล่นอะไรมาเอาใจชาว Blink (คำเรียกกลุ่มแฟนคลับ BLACKPINK) อย่างไรบ้าง ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ธนาคารในประเทศไทย ที่จับเอากระแสไอดอลมาไว้ในผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
ก่อนหน้านี้ ช่วงเดือนสิงหาคม 2562 ธนาคารออมสินได้ทาบทามสาวๆ BNK48 ไอดอลสาว ที่มีรากจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในบ้านเรา ทั้งในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ไปจนถึงวัยทำงาน
ธนาคารออมสิน เลือกพรีเซนเตอร์จาก BNK48 มาถึง 6 คน ได้แก่ ออม, เฌอปราง, โมบายล์, ปัญ, วี และ จูเน่ พร้อมออกลายหน้าบัตรออมสินเดบิตรุ่น GSBxBNK48 รุ่นพิเศษที่มีถึง 12 ลาย
บัตรออมสินเดบิต GSBxBNK48 มีทั้งหมด 2 ประเภท แบบแรกคือ “บัตรออมสิน เดบิต GSBxBNK48 Limited” เปิดจำหน่ายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา มีทั้งหมด 6 ลาย ซึ่งจะเป็นภาพศิลปินแบบกลุ่มให้ได้เลือกสะสม
ส่วนแบบที่ 2 คือ “บัตรออมสิน เดบิต GSBxBNK48” ที่จำหน่ายพร้อมกันทั่วประเทศไปในวันที่ 29 ตุลาคม 2562 เป็นภาพศิลปิน BNK48 แบบภาพเดี่ยว 6 คน 6 ลาย เปิดโอกาสในแฟนจับจอง และใช้บริการ
ทำไมต้องเป็น BLACKPINK และ BNK48
แนวดนตรีและการนำเสนอสไตล์เกาหลี หรือที่รู้จักกันว่า “เค-ป็อป” ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มวัยรุ่นไทยมากขึ้น โดยเฉพาะช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นศิลปินเดี่ยว บอยแบรนด์ หรือแม้แต่เกิร์ลกรุ๊ปก็ได้รับการตอบรับที่ดีอยู่เสมอ
ในขณะที่เดียวกัน กระแสความนิยม “เจ-ป็อป” หรือแนวดนตรีของประเทศญี่ปุ่นที่เคยได้รับความนิยมมากๆ ในกลุ่มวัยรุ่นไทยเมื่อ 10 ปีก่อนก็ยังไม่เคยจางหายไปจากสังคมไทย ยิ่งมีการกลับมาของไอดอลกรุ๊ปใหญ่อย่าง BNK48 ที่มีคอนเซปมาจากวง AKB48 วงไอดอลสาวจากญี่ปุ่น ปลุกกระแส เจ-ป็อป กลับมาอีกครั้ง แถมยังสร้างปรากฏการณ์บรรดาหนุ่มๆ ตามติดไอดอลสาวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
อิทธิพลของของศิลปินเกาหลีและญี่ปุ่น ไม่ได้อยู่แค่ในวงการบันเทิงเท่านั้น ในมิติของการตลาดการเลือกใช้ศิลปินที่มีชื่อเสียง และกำลังเป็นที่นิยมมาเป็นพรีเซนเตอร์ของผลิตภัณฑ์ หรือแบรนด์แอมบาสเดอร์ก็มีส่วนสร้างความสำเร็จได้ไม่น้อย การทาบทามศิลปินที่กำลังฮอตสุดๆ อย่าง BLACKPINK และ BNK48 มาเป็นพรีเซนเตอร์ของผลิตภัณฑ์จึงเป็นการเปิดโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นวงการแบงก์กิงและประชาสัมพันธ์ศิลปินไปในเวลาเดียวกัน เรียกว่าเป็นกลยุทธ์ที่ วิน วิน กันทั้งคู่
ทำไมต้องเจาะนิวเจนเนเรชัน
ความร่วมมือระหว่างธนาคารกับไอดอล ไม่เพียงแต่มีส่วนช่วยให้ลูกค้าอยากหันมารับบริการทางการเงินจากธนาคารที่มีไอดอลของพวกเขาเป็นพรีเซนเตอร์เท่านั้น
เพราะหากมองลึกลงไป จุดประสงค์ของการดึงไอดอลมาอยู่กับผลิตภัณฑ์ของธนาคารในครั้งนี้ คือการเจาะกลุ่มเป้าหมายแฟนคลับของเหล่าไอดอลเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 15-25 ปี ที่มีมากกว่า 10 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี เติบโตมาในโลกที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผันเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy) คุ้นเคยกับบริการทางการเงินผ่านระบบดิจิทัล สอดรับกับบริการ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ในปัจจุบัน ศักยภาพตรงนี้ ทำให้ธนาคารมองเห็นศักยภาพการเติบโตที่จะเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญในอนาคต
เนื่องจากพฤติกรรมการใช้เงินของกลุ่มคนรุ่นใหม่จะสะท้อนถึงไลฟ์สไตล์ได้อย่างชัดเจน สะท้อนจากงานวิจัย “ต่าง Gen ต่างใจ เจาะ Insight ผู้บริโภคไทย 2015” จากภาควิชาการตลาด คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อมูลจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง ชายและหญิง ใน 3 ช่วงอายุ คือ 20-29 ปี 30-39 ปี และ 40-55 ปี รวมจำนวน 40 คน พบว่า พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ ช่วงอายุ 20-29 ปี กลุ่มวัยเรียนหรือทำงานตอนต้น มีประสบการณ์การบริโภคยังน้อย ยังไม่มีความเป็นตัวของตัวเองนัก โดยใช้สินค้าตามกลุ่มเพื่อนหรือกระแสสังคม
โดยปัจจัยที่ทำให้คนกลุ่มนี้ตัดสินใจซื้อสินค้า มาจากพฤติกรรมเด่น คือ ชอบแสวงหาสิ่งแปลกใหม่เสมอ โดยได้รับอิทธิพลจากสื่อสูง โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย อีกทั้งชอบของดีมีคุณภาพ แต่ยังไม่ยึดติดกับแบรนด์ใหม่แบรนด์หนึ่ง เริ่มใส่ใจสุขภาพตามเทรนด์ ซื้อสินค้าโดยดูที่ราคาและความคุ้มค่า และยังมักบริโภคตามความเคยชิน สำหรับสินค้าหรือการตลาดที่จะจูงใจคนกลุ่มต้องเป็นสินค้าที่หลากหลาย มีความสนุกสนาน สร้างสังคมกับเพื่อนๆ ในโลกโซเชียลมีเดียได้
จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการใช้เงินของคนรุ่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเทรนด์หรือกระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม จึงไม่แปลกที่บรรดาธนาคารมุ่งเป้ามาที่กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ ที่มีแนวโน้มเข้าร่วมกิจกรรมของแบรนด์ได้สูงกว่าวัยอื่นๆ
ขณะเดียวกัน หากมองในมิติของธุรกิจ การดึงไอดอลเหล่านี้เข้ามาอยู่หน้าบัตรเดบิต คือการพยายามสะท้อนภาพลักษณ์ Digital Banking หรือการเปลี่ยนธนาคารยุคดิจิทัลที่ทันสมัย เพื่อสื่อสารถึงการปรับตัวของธนาคารในยุคดิสรัปชัน เข้าถึงวัยรุ่นมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการสร้างภาพลักษณ์ของธนาคารในยุคดิสรับชัน ที่ใครๆ ก็อยากเป็นดิจิทัลแบงก์กิงอันดับ 1 ในใจลูกค้า และสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลที่ไม่ว่าองค์กรไหนๆ ก็ต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลง เพื่อจับเทรนด์กลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
เป็นที่น่าจับตาว่าหลังจากนี้ นอกจากการร่วมมือกับไอดอลที่ได้รับความนิยมมาเป็นพรีเซนเตอร์แล้ว ธนาคารอื่นๆ จะงัดกลยุทธ์ใดมาดึงกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่อีกบ้าง
ยุคดิจิทัลดิสรัปชัน คือจุดเริ่มต้นของการปรับตัวในทุกอุตสาหกรรม ไม่เว้นธนาคาร ที่ต้องจับเทรนด์คนรุ่นใหม่ให้ทัน เพื่อสร้างฐานลูกค้าในอนาคต