“การแข่งขัน และดิสรัปชันมาอย่างรุนแรง ความสำคัญของการทำความเข้าใจการทรานส์ฟอร์มสำคัญมาก โค้งนี้จะเป็นโค้งสุดท้าย เพราะหลังจากปีนี้การทราส์ฟอร์มจะเป็นเรื่องปกติ และไม่มีประโยชน์อะไรอีกแล้ว เพราะว่าทุกคนได้ย้ายตัวเองไปอยู่ในเศรษฐกิจดิจิทัลเรียบร้อยแล้ว ถ้าเราไม่ตกขบวนจึงจะสามารถแข่งขันได้ และอยู่รอดในโลดิจิทัลได้”
ศุภชัย สัจไพบูลย์กิจ ประธานบริษัท OPTIMUS Thailand และนายธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี เปิดเผยถึงแนวโน้มเทรนด์ดิจิทัลที่จะมีอิทธิพลต่อธุรกิจไทยในปี 2020 คือเทรนด์ที่เริ่มเป็นที่รู้จักใน 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่จะชัดเจนมากขึ้น และส่งผลกระทบต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่ไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยเทรนด์เทคโนโลยีที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่อธุรกิจ และวิถีชีวิตของคนไทยในปีนี้ 2020 ประกอบด้วย 8 เทรนด์หลัก ได้แก่
1) Digital Transformation
คือ Digital Transformation คือการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจในยุคที่สังคม และเทคโนโลยีมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยมีการใช้เทคโนโลยี การวางแผนต่างๆ เข้ามาผสมผสานเพื่อนำองค์กรฝ่ากระแส Digital Disruption ที่กำลังสร้างผลกระทบให้กับคนที่ยังดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ
แม้หลายองค์กรในไทย โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ๆ พยายามขยับตัวและวางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองในยุคดิจิทัลไปบ้างแล้ว แต่สำหรับในปี 2020 ในแวดวงของธุรกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และใครที่ไม่ยอมปรับ หรือปรับช้าไปกว่านี้ก็มีโอกาสตกขบวนในโลกธุรกิจไปได้ง่ายๆ
2) Big Data
Big Data คำจำกัดความของข้อมูลจำนวนมหาศาล ที่รวมตัวกันอยู่อย่างเป็นระเบียบ มีหมวดหมู่ที่ชัดเจน โดยสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ตามที่ต้องการผ่านการใช้เครื่องมือเฉพาะทางในการวิเคราะห์ เช่น การวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อของของลูกค้า เพื่อนำไปสู่การเจาะลึกถึงความต้องการ
แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ผ่านมาหลายองค์กรเพิ่งเริ่มใช้ประโยชน์จากข้อมูลจำนวนมหาศาลเท่านั้น สำหรับปี 2020 Big Data จะกลายเป็นพื้นฐานข้อมูลสำคัญที่ทุกองค์กรต้องนำมาใช้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจในมิติที่ลึกขึ้น ตรงจุดมากขึ้น และมีโอกาสแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดที่มากขึ้นเช่นกัน
3) AI (ปัญญาประดิษฐ์)
ปัญญาประดิษฐ์ เป็นเทคโนโลยีที่ถูกกล่าวถึงบ่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา เพราะเป็นเทคโนโลยีที่เป็นเบื้องหลังของนวัตกรรมต่างๆ ที่นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในอุตสาหกรรมต่างๆ เร็วกว่า แม่นยำกว่าการใช้มนุษย์
องค์กรน้อยใหญ่ที่มองเห็นเทรนด์เทคโนโลยีนี้เริ่มลงทุนใน AI ในส่วนงานต่าง ๆ มากขึ้น สำหรับในปี 2020 จะชัดเจนมากขึ้น ทั้งในแง่ของการใช้เทคโนโลยีนี้มาช่วยมนุษย์ให้ทำงานง่ายขึ้น หรืออาจถึงขั้นแทนที่มนุษย์ในงานบางประเภทได้เลยทีเดียว เทรนด์การพัฒนาของ AI ที่คาดว่าจะได้เห็นชัดเจนขึ้นในปีหน้า
เริ่มตั้งแต่ Machine Learning (ML) การป้อนข้อมูลเพื่อให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำการเรียนรู้กับชุดข้อมูลเพื่อแสดงผลตามที่ต้องการ เช่น เฟซบุ๊ก รวบรวมข้อมูลภาพที่ไม่เหมาะสม และไม่ควรแสดงบนหน้าฟีดให้กับ AI เพื่อวิเคราะห์และหยุดการแสดงภาพนั้นๆ ได้อย่างทันท่วงที เป็นต้น
Natural Language Processing (NLP) การพัฒนาให้ปัญญาประดิษฐ์สามารถเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์เสียง สีหน้าท่าทาง ซึ่งการพัฒนานี้จะช่วยให้ AI สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้แม่นยำมากขึ้น เช่นการรับข้อมูลจากเสียง การแปลภาษาแบบเรียลไทม์ ฯลฯ
Deep Learning (Neural Networks) ซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ที่เลียนแบบการทำงานของระบบโครงข่ายประสาท(neurons)ในสมองมนุษย์ ถูกสร้างขึ้นจากการนำเอา neural network หลายๆ ส่วนมาต่อกัน เป็นโครงสร้างที่ถูกจัดเก็บแบบเป็นกองซ้อน (stack) ทำให้มีโครงสร้างที่ลึก(deep) ยิ่งขึ้น ประมวลผลหลายสิ่งพร้อมๆ กันได้มากขึ้น
4) 5G
5G คือ เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายในเจเนอเรชั่นที่ 5 โดยจะมีศักยภาพและการทำงานที่มีประสิทธิภาพทั้งภาพและเสียงมากกว่า 4G ถึง 1,000 เท่า รวมถึงรองรับการใช้งานได้มากกว่าแค่ในสมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่เป็นการใช้งานที่ครอบคลุมไปถึง IoT (Internet of Things)
รองรับการอัปโหลดที่รวดเร็ว ดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือแทบจะครอบคลุมทุกการใช้งาน ยกตัวอย่างเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพในเรื่องความเร็วสูง เพื่อประมวลผลของข้อมูล เนื่องจากต้องส่งผ่านข้อมูลที่มีความซับซ้อนและมีข้อมูลเป็นจำนวนมากในการประมวลผลโดยการใช้อินเทอร์เน็ตร่วมด้วย และ 5G ก็นับได้ว่ามีความเร็วและแรงตอบโจทย์กับนักพัฒนาเทคโนโลยี AR และ VR ได้อย่างไม่ติดขัด
สำหรับปี 2563 นี้ ประเทศไทยมีกำหนดประมูลคลื่นความถี่ และเริ่มมีการทดลองใช้คลื่นความถี่ 5G ตามที่ กสทช. กำหนด โดยเริ่มกระบวนการประมูลในปี 2563 ซึ่งเป็นจัดการประมูลล่วงหน้า โดยจะผลักดันให้พร้อมเปิดใช้ 5G ให้ได้ภายในเดือนตุลาคม 2563
หากมีการใช้งาน 5G เกิดขึ้น จะเป็นพื้นฐานของการใช้อินเทอร์เน็ตหลายอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่นี้ ไม่ว่าจะเป็นวงการสื่อฯ วงการภาพยนตร์ การตลาด ฯลฯ ยิ่งสามารถใช้ 5G ที่เป็นประโยชน์ได้เท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสสร้างการเติบโตของธุรกิจได้มากเท่านั้น
5) Blockchain
ในปีหน้าบล็อกเชน คาดว่าองค์กรต่างๆ จะมีการเริ่มต้นในการใช้งานโดยยึดประโยชน์ของระบบบล็อกเชน มากกว่าการใช้ในเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัล อย่าง Bitcoin ที่หลายคนคุ้นเคย
ในปี 2020 ประสิทธิภาพที่แท้จริงของบล็อกเชน จะถูกหยิบขึ้นมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์จากการทำงานที่เชื่อมโยงกันได้อย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องมีคนกลาง สามารถดำเนินการตรวจสอบขั้นตอนในการดำเนินการได้ทั้งหมด มีความโปร่งใสและปลอดภัยเนื่องจากการเข้ารหัสลับที่ซับซ้อน ฯลฯ
ที่ผ่านมามีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน นำข้อดีขของบล็อกเชนเเหล่านี้มาใช้ในบริหารจัดการระบบงาน อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มประยุกต์ใช้บล็อกเชนในงานของ ธปท. เอง เพื่อให้ ธปท. และผู้เกี่ยวข้องได้เรียนรู้บล็อกเชนในเชิงลึกและประเมินความเหมาะสมในการนำไปใช้จริง โดยได้ดำเนินโครงการนำร่อง โครงการอินทนนท์ที่ทดสอบใช้บล็อกเชนในการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน และ โครงการ DLT Scripless Bond ที่นำบล็อกเชนมาทดสอบใช้ในงานจำหน่ายพันธบัตรเพื่อช่วยลดความซับซ้อน ลดขั้นตอน และเวลาในการดำเนินงานของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเทรนด์การใช้บล็อกเชนเหล่านั้นจะเริ่มชัดเจนขึ้นหลังจากปี 2020 นี้
6) NDID (National Digital ID)
ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด เป็นตัวกลางในการทำหน้าเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐและเอกชน ทำให้เอกสารและข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏมีความน่าเชื่อถือ และได้รับการรองรับทางกฎหมายในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์บนโลกดิจิทัล ช่วยยกระดับการทำธุรกรรมทางดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความล่าช้าในการดำเนินธุรกิจ ลดปัญหาการปลอมแปลงเอกสาร หรือการสวมสิทธิ์ต่างๆ ได้
การใช้งาน NDID อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ ของลูกค้า หรือวางแผนรองรับระบบเหล่านี้เพื่อความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ
7) IT Security / Data Privacy
แม้การเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลาจะมีข้อดีอยู่มาก แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือความปลอดภัยของข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคลที่นำไปสู่การยืนยันตัวตน และทำธุรกรรมต่างๆ
เทรนด์การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ทำให้ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญกับระบบ IT Security (ความปลอดภัยทางไซเบอร์) และ Data Privacy (ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล) ให้มากขึ้น เช่นการเตรียมระบบรองรับ ป้องกันภัยไซเบอร์ ระบบรักษความปลอดภัยภายในองค์กร ป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลที่สำคัญ ทั้งส่วนของข้อมูลลูกค้า และข้อมูลทางธุรกิจขององค์กรด้วย
8) FinTech/Mobile Payment
2 เทรนด์ทางการเงินที่ธุรกิจต่างๆ หนีไม่พ้นคือ FinTech หรือ Financial Technology ที่เป็นการผสมผสานนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ากับการบริหารการเงิน ซึ่งมีส่วนทำให้ผู้บริโภครายย่อยเข้าถึงบริการทางการเงินมาขึ้น เช่น เครื่องมือจัดการกองทุน แอปพลิเคชันเทรดหุ้นวอลลุ่มต่ำ หรือแม้แต่แอปพลิเคชันลงทุนในทองคำที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก ฯลฯ ซึ่งบริการเหล่านี้เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในปี 2019 และคาดว่าจะเติบโตมากขึ้นในปี 2020 ซึ่งสะท้อนว่าการเจาะกลุ่มลูกค้ารายย่อย เป็นโอกาสทางธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่งที่จะได้การตอบรับที่ดีในอนาคต
อีกหนึ่งเทรนด์ที่มาแรง และเห็นได้ชัดเจนที่สุดช่วงปีที่ผ่านมาในบ้านเรา คือ Cashless Society หรือสังคมไร้เงินสดที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย นับตั้งแต่ธนาคารพาณิชย์ประกาศฟรีค่าธรรมเนียมในการโอนเงินผ่านอีแบงก์กิง เทรนด์นี้มีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนี้ธุรกิจที่เพิ่มบริการชำระเงินออนไลน์ ซื้อสินค้าออนไลน์ และบริการอื่นๆ ที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการซื้อสินค้าที่ไม่ใช่เงินสด จึงเป็นโอกาสเพิ่มรายได้ในการทำธุรกิจท่ามกลางตลาดที่เข้มข้นได้
นอกจากนี้ นายธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี ยังเปิดมุมมองว่า “จากการสำรวจและวิเคราะห์ พบว่าเทรนด์เทคโนโลยีใน 10 ปีที่ผ่านมาไม่เปลี่ยแปลงมาก เพราะเทคโนโลยีค่อนข้างจะมั่นคงแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองอย่างไรให้ไม่ตกยุค และทำความเข้าใจว่าทรานส์ฟอร์เมชันไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยีแต่มีองค์ประกอบเรื่องแนวคิดในการบริหารธุรกิจในยุคใหม่ด้วย”
เรียนรู้และปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีก่อนจะสาย เพราะปี 2020 อาจเป็นโค้งสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลง