ในวันนี้ Fast Fashion ดูจะ ‘ช้า’ ไปเสียแล้ว ตลาดค้าปลีกกลุ่มแฟชั่นซบเซา จนส่อแววถึงทางตัน เมื่อผู้บริโภคหันไป "ช้อปปิ้งออนไลน์" กันจนกลายเป็นช่องทางหลัก สะท้อนตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลกที่โตเร็วแบบฉุดไม่อยู่
Statista ประเมินมูลค่าตลาดของกลุ่มค้าปลีกในปี 2019 ของกลุ่มอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ 3.45 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 108 ล้านล้านบาท เขย่าวงการแฟชั่นให้สั่นสะเทือนจนบรรดาแบรนด์ Fast Fashion ทั้งหลายต้องปรับตัว
ไม่เว้นแม้แต่แบรนด์ดังอย่าง Top Shop, GAP, H&M, ZARA ที่ทยอยประกาศปิดสาขา หรือปรับเกมแปลงโฉมไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์กันยกใหญ่
Top Shop ปิดสาขาทั้งหมด
เป็นกระแสฮือฮาในวงการแฟชั่น เมื่อ Topshop และ Topman ทั้งหมดในสหรัฐรวมถึงอีก 200 สาขา ในสหราชอาณาจักรประกาศปิดลงไปตาม Arcadia Group บริษัทแม่ปิดตัวลงไปเมื่อ 3 ปีก่อน สะท้อนถึงจุดเปลี่ยนของวงการค้าปลีกแฟชั่นยักษ์ใหญ่ของยุโรป
BBC ระบุว่าการปิดร้านของ Topshop ในสหรัฐฯ เป็นการเคลื่อนตัวของบริษัทแม่ที่ทำเพื่อนำไปสู่การบริหารงานแบบใหม่ ลดความเสี่ยงในการปิดตัวลงของแบรนด์ โดย Topshop และ Topman จะผันตัวมาขายสินค้าในเว็บไซต์ทางการของตัวเอง พร้อมจับมือกับคู่ค้าต่าง ๆ เช่น Nordstrom ห้างสรรพสินค้าชื่อดังของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง
GAP ปิด 230 สาขา
ตัดภาพมาที่อีกหนึ่งแบรนด์ดังสัญชาติอเมริกันอย่าง GAP ที่ชิงประกาศแผนปิดตัว 230 สาขา จากทั้งหมด 725 สาขาทั่วโลก ภายใน 2 ปี (2021) หลังจากที่ GAP พยายามดิ้นรนสร้างกำไรให้กลับมาในปีที่แล้ว แต่ยังว่ายอดขายทั่วโลกของแบรนด์ลดลง 5% ในปี 2018 จึงตั้งใจผันตัวเองจากแบรนด์เก่าแก่ 50 ปีมาเป็นแบรนด์เล็ก ที่มีความแข็งแกร่ง เล่นบทบาทสำคัญ มอบประสบการณ์ทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ หรือที่เรียกันว่า omni ที่ตรงความวิถีนักช้อปออนไลน์ของคนรุ่นใหม่แทน
H&M ปิด 160 สาขา
ด้าน H&M แบรนด์เสื้อผ้าจากสวีเดน ก็ได้เริ่มได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับแบรนด์อื่นๆ สะท้อนจากเป้าหมายปิด 160 สาขาทั่วโลกในปี 2019 นี้ แถมยังมีแผนปรับรูปแบบสาขาใหม่และเปิดสาขารวม 375 สาขาเพื่อปรับกลยุทธ์เข้ากับพฤติกรรมของลูกค้าในอนาคต
หลังจากที่พบว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2018 แบรนด์ H&M มียอดขายผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น 24% ขณะที่ยอดขายทั้งหมดเพิ่มขึ้น 12% สะท้อนว่าลูกค้าใจจดใจจ่อกับการอัปเดตสินค้าใหม่ๆ และกล้าตัดสินใจซื้อผ่านช่องทางออนไลน์และแอปพลิเคชันในมือถือมากกว่าช่องทางเดิม ดังนั้นแบรนด์จึงหันมาพัฒนาการสื่อสารแบบบูรณาการระหว่างร้านแบบออฟไลน์และออนไลน์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าตามกลยุทธ์ ‘คลิกที่ใช่’ เพื่อเพิ่มยอดขายให้ได้มากที่สุด
ZARA ผันตัวสู่ร้านออนไลน์เต็มตัวในปี 2020
ZARA ก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ ที่ออกมาเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ โดย Inditex บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้ารายใหญ่ เจ้าของแบรนด์ ZARA ออกประกาศว่าจะเปลี่ยน ZARA ให้กลายเป็นร้านแฟชั่นค้าปลีกออนไลน์แบบเต็มตัวในปี 2020 หลังจากเห็นโอกาสจากยอดขายออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นมากถึง 41 % ในปี 2017 ขณะที่หน้าร้านก็ปรับตัวกันไปอย่างขลุกขลัก รับมือกับสภาวะค้าปลีกที่ค่อนข้างฝืดโดย Pablo Isla CEO ของ Inditex ออกตัวชัดเจนว่า
“เราต้องการมอบคอลเลคชั่นแฟชั่นของเราให้กับลูกค้าได้ทุกที่ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนในโลก”
เรื่อง: ปณิดดา เกษมจันทโชติ
ภาพ: ณัฐนิช อิสรเสรีธรรม
Top Shop, GAP, H&M, ZARA ร้านเสื้อผ้ากลุ่ม Fast Fashion พร้อมใจปรับเกมครั้งใหญ่ ประกาศปิดตัวสาขาพร้อมกระโจนสู่ตลาดออนไลน์เพื่อช่วงชิงโอกาสเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ผันตัวไปช้อปออนไลน์เป็นช่องทางหลัก เมื่อดีไซน์เสื้อผ้าสุดชิคเข้ากับฤดูกาลไม่ใช่ทางรอดอีกต่อไป